วันเสาร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2557

เครื่องดนตรีไทย

เครื่องดนตรีไทย

เครื่องดนตรีไทยเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดจากภูมิปัญญาไทย มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีการพัฒนามาตลอด แบ่งออกเป็น ๔ ประเภท คือ เครื่องดีด เครื่องสี เครื่องมือและเครื่องเป่า ซึ่งแต่ละประเภทจะมีลักษณะหรือหลักการเกิดเสียงที่เป็นธรรมชาติของตนเอง ดนตรีไทยนับเป็นศิลปะประจำชาติที่ควรอนุรักษ์และสืบสานต่อไป

สาระการเรียนรู้
ประเภทของเครื่องดนตรีไทยและการผสมวงดนตรีไทย

กิจกรรมฝึกทักษะที่ควรเพิ่มให้นักเรียน
รู้และอธิบายลักษณะของเครื่องดนตรีไทยได้

ประเภทของเครื่องดนตรีไทยและการผสมวงดนตรีไทย

การแบ่งประเภทของเครื่องดนตรีไทย
ผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทยแบ่งเครื่องดนตรีไทยออกเป็น ๔ ประเภท โดยยึดหลักการทำให้เกิดเสียงและวิธีการบรรเลง คือ เครื่องดีด เครื่องสี เครื่องตี เครื่องเป่า
- เครื่องดีด ได้แก่ พิณเปี๊ยะ พิณน้ำเต้า ซึง จะเข้ กระจับปี่
- เครื่องสี ได้แก่ ซอสามสาย ซอด้วง ซออู้ สะล้อ
- เครื่องตี จำแนกออกเป็น ๓ จำพวก คือ
- เครื่องตีที่ทำด้วยไม้ ได้แก่ กรับคู่ กรับพวง กรับเสภา ระนาดเอก
- เครื่องตีที่ทำด้วยโลหะ ได้แก่ มโหระทึก ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องคู่ ฆ้องชัย ฆ้องโหม่ง ฉิ่ง ฉาบ
- เครื่องตีที่ขึงด้วยหนัง ได้แก่ กลองทัด กลองชาตรี ตะโพนไทย ตะโพนมอญ กลองตะโพน โทนชาตรี โทนมโหรี รำมะนามโหรี รำมะนาลำตัด กลองแขก กลองมลายู กลองชนะ เปิงมางคอก กลองสองหน้า ตะโล้ดโป็ด บัณเฑาะว์ กลองยาว กลองแเอว กลองสะบัดไชย


- เครื่องเป่า ได้แก่ ปี่ใน ปี่กลาง ขลุ่ย แตรงอน แตรสังข์

๑. เครื่องดีด
เครื่องดีด คือ เครื่องดนตรีที่มีสายและกะโหลกเสียงหรือกล่องเสียงเป็นส่วนประกอบทำให้เกิดเสียง โดยใช้นิ้วหรือไม้ดีดสาย เพื่อให้สายสั่นสะเทือน ได้แก่ พิณเปี๊ยะ พิณน้ำเต้า ซึง จะเข้ กระจับปี่







                พิณเปี๊ยะ หรือ พิณเพี๊ยะ เป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองล้านนาชนิดหนึ่ง เป็นเครื่องดนตรีประเภทดีด ลักษณะของพิณเปี๊ยะมีคันทวนยาวประมาณ ๑ เมตรเศษ ตอนปลายคันทวนทำด้วยเหล็กรูปหัวช้าง ทองเหลือง สำหรับใช้เป็นที่พาดสาย ใช้สายทองเหลืองเป็นพื้น สายทองเหลืองนี้จะพาดผ่านสลักตรงกะลาแล้วต่อไปผูกกับสลักตรงด้านซ้าย สายของพิณเปี๊ยะมีทั้ง ๒ สายและ ๔ สาย กะโหลกของพิณเปี๊ยะทำด้วยเปลือกน้ำเต้าตัดครึ่งหรือกะลามะพร้าว ก็ได้ เวลาดีด ใช้กะโหลกประกบติดกับหน้าอก ขยับเปิดปิดให้เกิดเสียงตามต้องการ เช่นเดียวกับพิณน้ำเต้าของภาคกลาง ในสมัยก่อนชาวเหนือมักจะใช้พิณเปี๊ยะดีดคลอกับการขับลำนำในขณะที่ไปเที่ยวสาว พิณเปี๊ยะไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควรเพราะเป็นเครื่องดนตรีที่เล่นยาก

                พิณน้ำเต้า เป็นเครื่องดนตรีประเภทดีด พิณน้ำเต้าเป็นพิณที่มีสายเดียว ทำมาจากผลของน้ำเต้าที่ถูกนำมาผ่าครึ่ง
โดยทั่วไปแล้วผู้ดีดพิณน้ำเต้าจะต้องไม่สวมเสื้อ ซึ่งก็หมายความว่าผู้ที่ดีดส่วนมากจะเป็นผู้ชาย โดยผู้ดีดจะนำเอากะโหลกเสียง หรือ กะโหลกน้ำเต้าวางประกบแนบติดกับอกซ้าย มือซ้ายจะจับที่ทวน ส่วนมือขวาจะใช้ดีดพิณ
ผู้ดีดพิณน้ำเต้าที่มีความชำนาญในการเล่นจะขยับกะโหลกน้ำเต้าให้เปิด - ปิด อยู่ตรงหน้าอกข้างซ้ายในบางครั้งบางครา เพื่อให้เกิดเสียงที่ก้องกังวาน ตามความประสงค์ของผู้ที่ดีด แล้วใช้นิ้วซ้ายช่วยกด เพื่อให้สายตึงหรือหย่อน


ซึง เป็นเครื่องดนตรีประเภทดีด มี ๔ สาย แต่แบ่งออกเป็น ๒ เส้น เส้นละ ๒ สาย มีลักษณะคล้าย กระจับปี่ แต่มีขนาดเล็กกว่า ความยาวทั้งคันทวนและกะโหลกรวมกันประมาณ ๘๑ ซม. กะโหลกมีรูปร่างกลมวัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ประมาณ ๒๑ ซม. ทั้งกะโหลกและคันทวนใช้ไม้เนื้อแข็งชิ้นเดียวคว้านตอนที่เป็นกะโหลกให้เป็นโพรง ตัดแผ่นไม้ให้กลม แล้วเจาะรูตรงกลางทำเป็นฝาปิดด้านหน้า เพื่ออุ้มเสียงให้กังวาน คันทวนเป็นเหลี่ยมแบนตอนหน้า เพื่อติดตะพานหรือนมรับนิ้ว จำนวน ๙ อัน ตอนปลายคันทวนทำเป็นรูปโค้ง และขุดให้เป็นร่อง เจาะรูสอดลูกบิดข้างละ ๒ อัน รวมเป็น ๔ อันสอดเข้าไปในร่อง สำหรับขึ้นสาย ๔ สาย สายของซึงใช้สายลวดขนาดเล็ก ๒ สาย และ สายใหญ่ ๒ สาย ซึงเป็นเครื่องดีดที่ชาวไทยทางภาคเหนือนิยมนำมาเล่นร่วมกับปี่ซอ หรือ ปี่จุ่ม และ สะล้อ
แบ่งตามลักษณะได้ ๓ ประเภท คือ ซึงเล็ก ซึ่งกลาง และซึงหลวง (ซึงที่มีขนาดใหญ่)
แบ่งตามประเภทได้ ๒ ชนิด คือ ซึงลูก ๓ และซึงลูก ๔ (แตกต่างกันที่เสียง ลูก ๓ เสียงซอลจะอยู่ด้านล่าง ส่วนซึงลูก ๔ เสียงซอลจะอยู่ด้านบน)
อธิบายคำว่า สะล้อ ซอ ซึง ที่มักจะพูดกันติดปาก ว่าเป็นเครื่องดนตรีของชาวล้านนา แต่ที่จริงแล้ว มีแค่ ซึง และสะล้อ เท่านั้นที่เป็นเครื่องดนตรีของชาวล้านนา ส่วนคำว่า ซอในที่นี้ หมายถึง การขับซอ ซึ่งเป็นการร้อง การบรรยาย พรรณนาเป็นเรื่องราว ประกอบกับวงปี่จุ่ม

จะเข้ เป็นเครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องดีด มี ๓ สาย เข้าใจว่าได้ปรับปรุงแก้ไขมาจากพิณ คือ กระจับปี่ซึ่งมี ๔ สาย นำมาวางดีดกับพื้นเพื่อความสะดวก มีประวัติและมีหลักฐานครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยา จะเข้ได้นำเข้าร่วมบรรเลงอยู่ในวงมโหรีคู่กับกระจับปี่ในสมัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีผู้นิยมเล่นจะเข้กันมาก ทำให้กระจับปี่ค่อย ๆ หายไปในปัจจุบัน เนื่องจากหาผู้เล่นเป็นน้อยจะเข้ เป็นเครื่องสายที่ใช้บรรเลงด้วยการดีด โดยปกติมีขนาดความสูงประมาณ ๒๐ เซนติเมตร และยาว ๑๔๐ เซนติเมตร ตัวจะเข้ทำด้วยไม้เนื้ออ่อน ขุดเป็นโพรง มีสาย ๓ สาย สายที่ ๑- ทำด้วยไหมฟั่น สายที่ ๓ ทำด้วยทองเหลือง วิธีการบรรเลงมือซ้าย จะทำหน้าที่กดสายให้เกิดเสียง สูง - ต่ำ ส่วนมือขวาจะดีดที่สายด้วยวัตถุที่ทำจากงาสัตว์
ตัวจะเข้ทำเป็นสองตอน คือตอนหัวและตอนหาง โดยลักษณะทางตอนหัวเป็นกระพุ้งใหญ่ ทำด้วยไม้แก่นขนุน หนาประมาณ ๑๒ ซม. ยาวประมาณ ๕๒ ซม. และกว้างประมาณ ๑๑.๕ ซม. ท่อนหัวและท่อนหางขุดเป็นโพรงตลอด รวมทั้งสิ้นมีความยาวประมาณ ๑๓๐ – ๑๓๒ ซม. ปิดใต้ทองด้วยแผ่นไม้ มีเท้ารองตอนหัว ๔ เท้า และตอนปลายปางอีก ๑ เท้า วัดจากปลายเท้าถึงตอนบนของตัวจะเข้ สูงประมาณ ๑๙ ซม. ทำหลังนูนตรงกลางให้สองข้างลาดลง โยงสายจากตอนหัวไปทางตอนหางเป็น ๓ สาย มีลูกบิดประจำสายละ ๑ อัน สาย ๑ ใช้เส้นลวดทองเหลือง อีก ๒ สายใช้เส้นเอ็น มีหย่องรับสายอยู่ตรงปลายหางก่อนจะถึงลูกบิด ระหว่างตัวจะเข้มีแป้นไม้เรียกว่า นม รองรับสายติดไว้บนหลังจะเข้ รวมทั้งสิ้น ๑๑ อัน เพื่อไว้เป็นที่สำหรับนิ้วกดนมแต่ละอันสูง เรียงลำดับขึ้นไป ตั้งแต่ ๒ ซม. จนสูง ๓.๕ ซม.
เวลาบรรเลงใช้ดีดด้วยไม้ดีดกลมปลายแหลมทำด้วยงาช้างหรือกระดูกสัตว์ เคียนด้วยเส้นด้ายสำหรับพันติดกับปลายนิ้วชี้ข้างขวาของผู้ดีด และใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วกลางช่วยจับให้มีกำลัง เวลาแกว่งมือส่ายไปมา ให้สัมพันธ์ กับมือข้างซ้ายขณะกดสายด้วย ไม้ดีดควรยาวประมาณ ๗-๘เซนติเมตร มีสายยาวประมาณ ๔๕ เซนติเมตร

 
           กระจับปี่ เป็นเครื่องดนตรีประเภทดีด หรือพิณ ๔ สายชนิดหนึ่ง ตัวกะโหลกเป็นรูปกลมรีแบนทั้งหน้าหลัง มีความหนาประมาณ ๗ ซม. ด้านหน้ายาวประมาณ ๔๔ ซม. กว้างประมาณ ๔๐ ซม. ทำคันทวนเรียวยาวประมาณ ๑๓๘ ซม. ตอนปลายคันทวนมีลักษณะ แบน และบานปลายผายโค้งออกไป ถ้าวัดรวมทั้งคันทวนและตัว กะโหลก จะมีความยาวประมาณ ๑๘๐ ซม. มีลูกบิดสำหรับขึ้นสาย ๔ อัน มีนมรับนิ้ว ๑๑ นมเท่ากับจะเข้ ตรงด้านหน้ากะโหลกมีแผ่นไม้บางๆ ทำเป็นหย่องค้ำสายให้ตุงขึ้น เวลาบรรเลงใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ จับไม้ดีด เขี่ยสายให้เกิดเสียง
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีกล่าวไว้ในกฎมณเฑียรบาลว่า ร้องเพลงเรือ เป่าปี่เป่าขลุ่ย สีซอดีดจะเข้ กระจับปี่ตีโทนทับ โห่ร้องนี่นั่น” ต่อมาก็นำมาใช้เป็นเครื่องดีดประกอบการขับไม้ สำหรับบรรเลงในพระราชพิธี แต่เนื่องจากกระจับปี่มีเสียงเบา และมีน้ำหนักมาก ผู้ดีดกระจับปี่จะต้องนั่งพับเพียบขวาแล้วเอาตัวกระจับปี่ วางบนหน้าขาข้างขวาของตน เพื่อทานน้ำหนัก มือซ้ายถือคันทวนมือ ขวาจับไม้ดีด เป็นที่ลำบากมาก อาจเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ไม่ค่อยมีผู้นิยมเล่นกระจับปี่ ในปัจจุบันจึงหาผู้เล่นได้ยาก
กระจับปี่ สันนิษฐานกันว่าน่าจะมาจาก ภาษาชวา คำว่า กัจฉปิ ซึ่งคำว่า กัจฉปิ นั้นมีรากฐานของคำศัพท์ ในบาลีสันสกฤต คำว่า กัจฉปะ ที่แปลว่า เต่า เนื่องจากลักษณะของ กระจับปี่นั้น จะมีกะโหลกเป็นรูปกลมรีแบนทั้งหน้าหลัง ซึ่งมองแล้วคล้ายกับกระดองของเต่า


๒. เครื่องสี คือ เครื่องดนตรีที่ดัดแปลงจากเครื่องดีด เป็นเครื่องสายที่ทำให้เกิดเสียงด้วยการใช้คันชักสีเข้ากับสาย มีกะโหลกเสียงเป็นส่วนประกอบสำคัญ เช่นเดียวกับเครื่องดีดในดนตรีไทยมีหลายประเภท เช่น ซอสามสาย ซอด้วง ซออู้ สะล้อ



           ซอสามสาย เป็นซอ ที่มีรูปร่างงดงามที่สุด ซึ่งมีใช้ในวงดนตรีไทย มาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย (พ.๑๓๕๐แล้ว ซอสามสายขึ้นเสียง ระหว่างสายเป็นคู่สี่ใช้บรรเลงในพระราชพิธี อันเนื่องด้วยองค์พระมหากษัตริย์ ภายหลังจึงบรรเลงประสมเป็นวงมโหรี
ซอสามสาย เป็นเครื่องดนตรีไทยชนิดหนึ่ง จำพวกเครื่องสาย มีขนาดใหญ่กว่าซอด้วงหรือซออู้ และมีลักษณะพิเศษ คือมีสามสาย มีคันชักอิสระ กะโหลกซอมีขนาดใหญ่ นับเป็นเครื่องดนตรีที่มีความสง่างามชิ้นหนึ่งในวงเครื่องสาย ผู้เล่นจะอยู่ในตำแหน่งด้านหน้าของวง
                ประวัติ ปรากฏหลักฐานจากจดหมายเหตุ ลาลูแบร์ (หน้า 30) ที่บันทึกไว้ว่า ชาวสยามมีเครื่องดุริยางค์เล็กๆ มีสามสายเรียกว่า ซอ” ….” ซึ่งชี้ให้เห็นว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือก่อนนั้น มีซอสามสายและนิยมเล่นกัน และลักษณะรูปร่างของซอสามสายก็คงจะยังไม่สวยงามมากอย่างในปัจจุบันนี้
จนมาถึงยุคต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 สืบเนื่องมาจากที่พระองค์ท่านมีอัจฉริยภาพในทางศิลปะด้านต่างๆ เช่น ทรงแกะสลักบานประตูพระวิหารวัดสุทัศน์เทพวรารามด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง อีกประการหนึ่ง พระองค์ท่านยังโปรดทรงซอสามสายเป็นอย่างยิ่ง จึงทำให้พระองค์ท่านได้ประดิษฐ์คิดสร้างซอสามสายได้ด้วยความประณีต งดงาม และเป็นแบบอย่างมาจนถึงปัจจุบันนี้

ส่วนต่างๆของซอสามสายมีชื่อเรียกดังนี้
ทวนบน เป็นส่วนบนสุดของคันซอ คว้านด้านในให้เป็นโพรงโดยตลอด ด้านบนสุดมีรูปร่างเป็นทรงเทริด ทวนบนนี้ เจาะรูด้านข้างสำหรับใส่ลูกบิด 3 ลูก ด้านหน้าตรงปลายทวนตอนล่าง เจาะรูสำหรับร้อยสายซอ ที่สอดออกมาจากรัดอก หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อกซอ ทวนบนนี้ทำหน้าที่คล้าย ๆ กับท่ออากาศ (Air column) ให้เสียงที่เกิดจากกะโหลกเป็นความถี่ของเสียง แล้วลอดผ่านออกมาทางทวนบนนี้ได้
ทวนล่าง คือส่วนของซอที่ต่อลงมาจากทวนบน ทำเป็นรูปทรงกระบอก และประดิษฐ์ลวดลายสวยงาม เช่นลงยาตะทอง ลงถมปัด ประดับมุก หรืออย่างอื่น เป็นการเพิ่มความวิจิตรงดงาม และเรียกทวนล่างนี้ว่า ทวนเงิน ทวนทอง ทวนมุก ทวนลงยา เป็นต้น ทวนล่างนี้สวมยึดไว้กับทวนบน และเป็นที่สำหรับผูก รัดอก เพื่อบังคับให้สายซอทั้ง 3 เส้นติดอยู่กับทวน นอกจากนั้นทวนล่าง ยังทำหน้าที่เป็นตำแหน่งสำหรับกดนิ้ว ลงบนสายในตำแหน่งต่างๆ
พรมบน คือส่วนที่ต่อจากทวนล่างลงมา ส่วนบนกลึงเป็นลูกแก้ว ส่วนตอนล่างทำเป็นรูปปากช้างเพื่อประกบกับกะโหลกซอ
พรมล่าง คือส่วนที่ต่อจากกะโหลกซอลงมาข้างล่าง ส่วนที่ประกบกับกะโหลกซอทำเป็นรูปปากช้าง เช่นเดียวกับส่วนล่างของพรมบน ตรงกลางของพรมล่างเจาะรูด้านบนเพื่อใช้สำหรับเป็นที่ร้อยหนวดพราหมณ์ เพื่อคล้องกับสายซอทั้งสามสายและเหนี่ยวรั้งให้ตึง ตรงส่วนปลายสุดของพรมล่างกลึงเป็น เกลียวเจดีย์ และตอนปลายสุดเลี่ยมด้วย ทองคำ หรือ ทองเหลืองเป็นยอดแหลม เพื่อที่จะปักกับพื้นได้ สะดวกยิ่งขึ้น คันซอสามสายทั้ง 4 ท่อนนี้จะมีลักษณะกลวงตลอด ยกเว้นพรมล่างตอนที่เป็นเกลียวเจดีย์เท่านั้นที่เป็นส่วนที่ตัน เพราะต้องการ ความแข็งแรง ในขณะปักสีเวลาบรรเลง และคันซอทั้ง 4 ท่อนนี้ จะสวมไว้กับแกนที่สอดไว้กับ กะโหลกซอ
ถ่วงหน้า ถ่วงหน้าของซอสามสาย เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญ ติดอยู่ตรงหน้าซอ เพื่อควบคุมความถี่ของเสียง ทำให้มีเสียงนุ่มนวลไพเราะน่าฟังยิ่งขึ้น
หย่อง ทำด้วยไม้ไผ่ แกะให้เป็นลักษณะคู้ ปลายทั้งสองของหย่องคว้านเป็นเบ้าขนมครกเพื่อทำให้เสียง ที่เกิดขึ้นส่งผ่านไปยังหน้าซอมีความกังวานมากยิ่งขึ้น
คันสี (คันชัก) คันสีของซอสามสาย ประกอบด้วยไม้และหางม้า คันสีนั้นเหลาเป็นรูปคันศร โดยมากนิยมใช้ไม้แก้ว เพราะเป็นไม้เนื้อแข็ง และมีลวดลายงดงาม

เสียงของซอสามสาย
สายเอก ถ้าปล่อยไม่จับสายจะเป็นเสียง ซอล และใช้ปลายนิ้วแตะที่ข้างสายโดยใฃ้นิ้วชี้ จะเป็นเสียง ลาใช้นิ้วกลางแตะที่ข้างสายจะเป็นเสียง ทีใช้นิ้วนางแตะที่ข้างสายจะเป็นเสียงโดใช้นิ้วก้อยแตะที่ข้างสายจะเป็นเสียง เร (เสียงสูง)ใช้นิ้วก้อยรูดที่สายจะเป็นเสียง มี (เสียงสูง)
สายกลาง ถ้าปล่อยไม่จับสายจะเป็นเสียง เร และใช้นิ้วชี้กดลงบนสายจะเป็นเสียง มีใช้นิ้วกลางกดลงบนสายจะเป็นเสียง ฟาใช้นิ้วนางกดลงบนสายเป็นเสียง ซอล
สายทุ้ม ถ้าปล่อยไม่จับสายจะเป็นเสียง ลา และใช้นิ้วชี้กดลงที่สายจะเป็นเสียง ทีใช้นิ้วกลางกดลงที่สายจะเป็นเสียง โดใช้นิ้วนางกดลงที่สายจะเป็นเสียง เร

           ซอด้วง เป็นซอสองสาย มีเสียงแหลม ก้องกังวาน คันทวนยาวประมาณ 72 ซม คันชักยาวประมาณ 68 ซม ใช้ขนหางม้าประมาณ 120 – 150 เส้น กะโหลกของ ซอด้วงนั้น แต่เดิมใช้กระบอกไม้ไผ่มาทำ ปากกระบอกของซอด้วงกว้างประมาณ 7 ซม ตัวกระบอกยาวประมาณ 13 ซม กะโหลกของซอด้วงนี้ ในปัจจุบันใช้ไม้จริง หรือ งาช้างทำก็ได้
แต่ที่นิยมว่าเสียงดีนั้น กะโหลกซอด้วงต้องทำด้วยไม้ลำเจียก ส่วนหน้าซอนิยมใช้หนังงูเหลือมขึง เพราะทำให้เกิดเสียงแก้วเกิดความไพเราะอย่างยิ่ง ลักษณะของซอด้วง มีรูปร่างเหมือนกับซอของจีนที่เรียกว่า ฮู – ฉิน (Huchin) ทุกอย่าง เหตุที่เรียกว่า ซอด้วง ก็เพราะมีรูปร่างคล้ายเครื่องดักสัตว์ เพราะตัวด้วงดักสัตว์ ทำด้วยกระบอกไม้ไผ่เหมือนกีน จึงได้เรียกชื่อไปตามลักษณะนั้นนั่นเอง
สายซอด้วงนั้น มีเพียงสองสายและมีเสียงอยู่ สองเสียง คือสายเอกจะเป็นเสียง "เร" ส่วนสายทุ้มจะเป็นเสียง "ซอล" โดยใช้สายไหมฟั่นหรือว่าสายเอ็นก็ได้
ซอด้วงใช้ในวงเครื่องสาย วงมโหรี โดยทำหน้าที่เป็นผู้นำวงและเป็นหลักในการดำเนินทำนอง

           ซออู้ : เป็นซอสองสาย ตัวกะโหลกทำด้วยกะลามะพร้าว โดยตัดปาดกะลาออกเสียด้านหนึ่ง และใช้หนังลูกวัวขึงขึ้นหน้าซอ กว้างประมาณ 13 – 14 ซม เจาะกะโหลกให้ทะลุตรงกลาง เพื่อใส่คันทวนที่ทำด้วยไม้จริง ผ่านกะโหลกลงไป ออกทะลุรูตอนล่างใกล้กะโหลก คันทวนซออู้นี้ ยาวประมาณ 79 ซม ใช้สายซอสองสายผูกปลายทวนใต้กะโหลก แล้วพาดผ่านหน้าซอ ขึ้นไปผูกไว้กับ ลูกบิดสองอัน ลูกบิดซออู้นี้ยาวประมาณ 17 –18 ซม โดยเจาะรูคันทวนด้านบน แล้วสอดลูกบิดให้ทะลุผ่านคันทวนออกมา และใช้เชือกผูกรั้งกับทวนตรงกลางเป็นรัดอก เพื่อให้สายซอตึง และสำหรับเป็นที่กดสายใต้รัดอกเวลาสี ส่วนคันสีของซออู้นั้นทำด้วย ไม้จริงยาวประมาณ 70 ซม ใช้ขนหางม้าประมาณ 160 - 200 เส้น ตรงหน้าซอใช้ผ้าม้วนกลมๆ เพื่อทำหน้าที่เป็นหมอนหนุน สายให้พ้นหน้าซอ ด้านหลังของกะโหลกซอ แกะสลักเป็นรูปลวดลายสวยงาม และเป็นช่องทางให้เสียงออกด้านนี้ด้วย
ซออู้มีรูปร่างคล้ายๆกับซอของจีนที่เรียกว่า ฮู - ฮู้ ( Hu-hu ) เหตุที่เรียกว่าซออู้ก็เพราะ เรียกตามเสียงที่ได้ยินนั่นเอง ซอด้วงและซออู้ ได้เข้ามามีบทบาทในวงดนตรีเครื่องสายตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ นี่เอง โดยได้ดัดแปลงมาจาก วงกลองแขกเครื่องใหญ่ ซึ่งมีเครื่องดนตรีที่ทำลำนำประกอบด้วย ซอด้วง ซออู้ จะเข้ และ ปี่อ้อ ต่อมาได้เอากลองแขก ปี่อ้อ ออก และเอา ทับกับรำมะนา และขลุ่ยเข้ามาแทน เรียกวงดนตรีชนิดนี้ว่า วงมโหรีเครื่องสาย มีคนเล่นทั้งหมด คน รวมทั้ง ฉิ่งด้วย

                สะล้อ เป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองล้านนาชนิดหนึ่ง เป็นประเภทเครื่องสีซึ่งมีทั้ง ๒ สายและ ๓ สาย คันชักสำหรับสีจะอยู่ข้างนอกเหมือนคันชักซอสามสาย สะล้อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ทร้อ หรือ ซะล้อ มีรูปร่างคล้ายซออู้ของภาคกลาง ใช้ไม้แผ่นบางๆ ปิดปากกะลาทำหลักที่หัวสำหรับพาดทองเหลือง ด้านหลังกะโหลกเจาะเป็นรูปลวดลายต่าง ๆ เช่น รูปหนุมาน รูปหัวใจ ส่วนด้านล่างของกะโหลก เจาะทะลุลง ข้างล่าง เพื่อสอดคันทวนที่ทำด้วยไม้ชิงชัน ยาวประมาณ ๖๔ ซม ตรงกลางคันทวนมีรัดอกทำด้วยหวาย ปลายคันทวนด้านบนเจาะรูสำหรับสอดลูกบิด ซึ่งมี ๒ หรือ ๓ อัน สำหรับขึงสายซอ จากปลายลูกบิดลงมาถึงด้านกลางของกะโหลกมีหย่องสำหรับ หนุนสายสะล้อเพื่อให้เกิดเสียงเวลาสี คันชักสะล้อทำด้วยไม้ดัดเป็นรูปโค้ง ขึงด้วยหางม้าหรือพลาสติก เวลาสีใช้ยางสนถูทำให้เกิดเสียงได้
สะล้อ ใช้บรรเลงประกอบการแสดงหรือบรรเลงร่วมกับบทร้องและทำนองเพลงได้ทุกชนิดเช่น เข้ากับปี่ในวงช่างซอ เข้ากับซึงในวงพื้นเมือง หรือใช้เดี่ยวคลอร้องก็ได้



เครื่องตี
เครื่องตี คือ เครื่องดนตรีที่ทำให้เกิดเสียงได้โดยการตี หรือการเคาะ แบ่งตามวัตถุที่ทำได้ ๓ ประเภท คือ
- เครื่องตีที่ทำด้วยไม้ ได้แก่ เกราะ โกร่ง กรับคู่ กรับพวง กรับเสภา ระนาดเอก ระนาดทุ้ม โปงลาง
- เครื่องตีที่ทำด้วยโลหะ ได้แก่ ระนาดเอกเหล็ก ระนาดทุ้มเหล็ก ฉิ่ง ฉาบเล็ก ฉาบใหญ่ ฆ้องมอญ ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ฆ้องเดี่ยว ฆ้องคู่ มโหระทึก
- เครื่องตีที่ขึงด้วยหนัง ได้แก่ กลองทัด กลองตุ๊ก ตะโพน บัณเฑาะว์ กลองมลายู โทน  รำมะนา  กลองชนะ

.๑ เครี่องตีทำด้วยไม้ ได้แก่ เกราะ โกร่ง กรับคู่ กรับพวง กรับเสภา ระนาดเอก ระนาดทุ้ม โปงลาง ดังรูป








เกราะ : ทำด้วยไม้ไผ่ เดิมเป็นเครื่องสื่อสารชนิดหนึ่ง ใช้ตีสำหรับขานยาม ไม่ปรากฏว่านำมาใช้ร่วมในวงการดนตรี เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดต่อๆกันมา ทำขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการติดต่อสื่อสารของผู้ใหญ่บ้านกับลูกบ้านในกรณีที่ต้องการเรียกลูกบ้านมาประชุม หรือแจ้งเหตุต่างๆในสมัยก่อน ซึ่งทำจากวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น คือ ไม้ไผ่
เกราะ ทำด้วยไม้ไผ่ตัด  เป็นปล้อง ไว้ข้อหัวท้าย ด้านล่างผ่าเจาะเป็นแนวยาวไปตามลำ ใช้ไม้ซีกหรือไม้แก่นเหลาขนาดพอเหมาะมือทำเป็นไม้ตี โดยผูกเชือกให้ติดไว้กับกระบอก บางทีก็เจาะทะลุที่ข้อทั้งสอง ข้าง สำหรับร้อยเชือกผูกแขวนหรือห้อย
วิธีตีเกราะ มือซ้ายจับเชือกให้เกราะตั้งขึ้น มือขวาจับไม้ตี ตีบริเวณตรงกลางปล้อง หรือถัดมาทางล่างของปล้อง โดยจะตีจังหวะเร่งเร็วติดต่อกันไปเป็นเวลานาน

           โกร่ง : เป็นเครื่องตีกำกับจังหวะที่ทำด้วยไม้ไผ่ เช่นเดียวกับเกราะ แต่ยาวกว่า ตั้งอยู่บนขา 2 ขา เคยเห็นใช้ตีตามชนบท ในฤดูการงานสงกราณต์ เด็กๆและหนุ่มสาวใช้ตีประกอบการร้องที่เรียกว่า ” ร่ำ ” คือการตีควบไปกับการร้องในการเชิญทรงเจ้าเข้าผี และรำแม่ศรี เป็นต้น ที่ใช้ในวงการดนตรีก็คือ การตีร่วมกับการแสดงหนังใหญ่ และโขนละคร โดยเฉพาะในการบรรเลงเพลงกราวตรวจพล แต่ในการแสดงโขน ของกรมศิลปากร จะใช้โกร่งร่วมตีในวงปี่พาทย์ในการแสดงโขนกลางแจ้ง ถ้าเป็นการแสดงภายในจะไม่ใช้เพราะเสียงดังเกินไป


โกร่ง ทำด้วยไม้ไผ่ยาว 4 หรือ 4 ปล้อง ตัดปาดหัวท้ายเหลือปล้องไว้ เจาะเป็นช่องระบายไปตามปล้อง โดยเจาะปล้องเว้นปล้อง หัวและท้ายจะมีไม้ทำเป็นขารองรับ เวลาตีจะวางราบขนานไปกับพื้น ใช้ไม้ตี ซึ่งด้วยไม้ไผ่ผ่าซีก คล้ายกรับไม้ 2 อัน มาตีลง ระหว่างกึ่งกลางปล้อง  ผู้ตีจะนั่งตีพร้อมกัน 2 หรือ 3 คนตีไปตามจังหวะใหญ่ ของทำนองเพลง โดยเฉพาะในเพลงกราวตรวจพล ซึ่งจะทำให้ผู้แสดงโขนฟังจังหวะได้ชัดเจน สามารถเต้นตามจังหวะได้พร้อมเพรียงกัน

กรับ : เป็นเครื่องดนตรีไทยชนิดหนึ่ง ซึ่งกรับนั้นมีอยู่ 3 ชนิดด้วยกัน คือ กรับคู่ กรับพวง และกรับเสภา
ประเภทของกรับ

กรับคู่
กรับคู่ : ทำด้วยไม้ไผ่ผ่าซีก เหลาให้เรียบและเกลี้ยงอย่าให้มีเสี้ยน มีรูปร่างแบนตามซีกไม้ไผ่ หนาตามขนาดของเนื้อไม้ยาวประมาณ 40 ซม ทำเป็น 2 อันหรือเป็นคู่ ใช้ตีให้ผิวกระทบกันทางด้านแบนเกิดเป็นเสียง กรับ



กรับพวง
กรับพวง : เป็นกรับชนิดหนึ่งตอนกลางทำด้วยไม้บางๆหรือแผ่นทองเหลือง หรืองาหลายๆอันและทำไม้แก่น 2 อันเจาะรูตอนหัวร้อยเชือกประกบไว้ 2 ข้างเหมือนด้ามพัด เวลาตีใช้มือหนึ่งถือตรงหัวทางเชือกร้อย แล้วฟาดลงไปบนอีกฝ่ามือหนึ่ง เกิดเป็นเสียงกรับขึ้นหลายเสียง จึงเรียกว่ากรับพวงใช้เป็นอานัตสัญญาณ เช่นในการเสด็จออกในพระราชพิธีของพระเจ้าแผ่นดิน เจ้าพนักงานจะรัวกรับ และใช้กรับพวงตีเป็นจังหวะ ในการขับร้อง เพลงเรือ ดอกสร้อยและใช้บรรเลงขับร้องในการแสดง นาฏกรรมด้วย

กรับเสภา : ทำด้วยไม้แก่น เช่นไม้ชิงชัน ยาวประมาณ 20 ซม หนาประมาณ ซม เหลาเป็นรูป เหลี่ยมแต่ลบเหลี่ยม ออกเพื่อมิให้บาดมือและให้สามารถกลิ้งตัวของมันเองกลอก กระทบกันได้โดยสะดวก ใช้บรรเลงประกอบในการขับเสภา เวลาบรรเลงผู้ขับเสภาจะใช้กรับเสภา คู่ รวม อัน ถือเรียงกันไว้บนฝ่ามือของตนข้างละคู่ กล่าวขับเสภาไปพลาง มือทั้ง ข้างก็ขยับกรับแต่ละข้างให้กลอกกระทบกันเข้าจังหวะ กับเสียงขับเสภา จึงเรียกกรับชนิดนี้ว่า กรับเสภา

ระนาดเอก เป็นระนาดเสียงแหลมสูง ประกอบด้วยลูกระนาดที่ทำด้วยไม้ไผ่บงหรือไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ชิงชัน ๒๑-๒๒ ลูก ร้อยเข้าด้วยกันเป็นผืนระนาด และแขวนหัวท้ายทั้ง ๒ ไว้บนกล่องเสียงที่ เรียกว่า รางระนาด ซึ่งมีรูปร่างคล้ายเรือ ระนาดเอก ทำหน้าที่นำวงดนตรีด้วย เทคนิคการบรรเลงที่ประณีตพิสดาร มักบรรเลง ๒ แบบ คือ ตีด้วยไม้แข็ง เรียกว่า ปี่พาทย์ไม้แข็ง และตีด้วยไม้นวมเรียก ปี่พาทย์ไม้นวม ระนาดเอกเรียงเสียงต่ำไปหาสูงจากซ้ายไปขวา และเทียบเสียงโดยวิธีใช้ชันโรงผสม ผงตะกั่วติดไว้ด้านล่างทั้งหัวและท้ายของลูกระนาด
ระนาดเอก เป็นเครื่องตีชนิดหนึ่ง ที่วิวัฒนาการมาจากกรับ แต่เดิมคงใช้กรับสองอันตีเป็นจังหวะ ต่อมาก็เกิดความคิดว่า ถ้าเอากรับหลาย ๆ อันวางเรียงราดลงไป แล้วแก้ไขประดิษฐ์ให้มีขนาดลดหลั่นกัน แล้วทำรางรองอุ้มเสียง และใช้เชือกร้อยไม้กรับขนาดต่าง ๆ กันนั้นให้ติดกัน และขึงไว้บนรางใช้ไม้ตีให้เกิดเสียง นำตะกั่วผสมกับขี้ผึ้งมาถ่วงเสียงโดยนำมาติดหัวท้ายของไม้กรับนั้น ให้เกิดเสียงไพเราะยิ่งขึ้น เรียกไม้กรับที่ประดิษฐ์เป็นขนาดต่างๆกันนั้นว่า ลูกระนาด เรียกลูกระนาดที่ผูกติดกันเป็นแผ่นเดียวกันว่า ผืน ระนาดเอกใช้ในงานมงคล เป็นเครื่องดนตรีเป็นมงคลในบ้าน บรรเลงในวงปี่พาทย์และวงมโหรี โดยทำหน้าที่เป็นผู้นำวง

ลักษณะทั่วไป
ส่วนประกอบของระนาดเอก มี 3 ส่วน ได้แก่ ผืน ราง และไม้ตี
ผืน ประกอบด้วยลูกระนาด ซึ่งทำด้วย ไม้ชิงชัน หรือไม้แก่น เช่น ไม้ไผ่บง ไม้มะหาด ไม้พะยูงก็ได้ ผืนระนาดไม้เนื้อแข็ง เสียงจะแกร่ง และดังคมชัดเหมาะสำหรับบรรเลงในวงปี่พาทย์ไม้แข็ง ส่วนผืนระนาดที่ทำจากไม้ไผ่จะให้เสียงที่นุ่มนวล เหมาะสำหรับวงปี่พาทย์ไม้นวมและวงปี่พาทย์ผสมเครื่องสาย ลูกระนาดมีทั้งหมด 21-22 ลูก โดยลูกที่ 22 มีชื่อเรียกว่า ลูกหลีก หรือ ลูกหลิบ ที่ท้องของลูกระนาดจะคว้านและใช้ขี้ผึ้งผสมกับตะกั่วถ่วงเพื่อให้เกิดความแตกต่างระหว่างเสียง โดยเสียงจากผืนระนาดขึ้นอยู่กับส่วนประกอบ 3 ส่วนด้วยกันคือ ส่วนแรก ขึ้นอยู่กับขนาดใหญ่-เล็ก ของไม้ที่ใช้ทำ ส่วนที่สอง ขึ้นอยู่กับการคว้านท้องไม้ลูกระนาดว่ามาก-น้อยเพียงใด ส่วนที่สามขึ้นกับปริมาณมาก-น้อยของตะกั่วที่ถ่วงใต้ลูกระนาดแต่ละลูก ลูกระนาดทั้งหมดจะถูกเจาะรูเพื่อร้อยเชือก และแขวนบนรางระนาด
ราง เป็นส่วนที่เป็นกล่องเสียงของระนาด ทำให้หน้าที่อุ้มเสียง นิยมทำด้วยไม้สักและทาด้วยน้ำมันขัดเงา ปัจจุบันการใช้ระนาดที่ทำด้วยไม้และทาด้วยน้ำมันลดความนิยมลง นักดนตรีนิยมใช้รางระนาดที่แกะสลักลวดลายไทยและลงรักปิดทองเพื่อความสวยงาม บางโอกาส อาจมีการฝังมุก ประกอบงา ซึ่งราคาก็จะสูงตามไปด้วย จากการรณรงค์พิทักษ์สัตว์ป่าที่มีอยู่ทั่วไป รางประกอบงาจึงไม่ได้รับความนิยม รูปร่างระนาดเอกคล้ายเรือบดแต่โค้งเรียวกว่า ตรงกลางของส่วนโค้งมีเท้าที่ใช้สำหรับตั้ง เป็นเท้าเดียวคล้ายพานแว่นฟ้า ปลายทั้งสองข้างของส่วนโค้งเรียกว่า โขน จะมีขอสำหรับห้อยผืนระนาดข้างละ 2 อัน
ไม้ระนาด เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการให้เกิดเสียงโดยตรง มี 2 ชนิด คือ ไม้แข็ง และไม้นวม ไม้แข็งพันด้วยผ้าอย่างแน่น และชุมด้วยรักจนเกิดความแข็งเวลาตีจะมีเสียงดัง และคมชัด เหมาะกับวงปี่พาทย์ไม้แข็ง วงปี่พาทย์มอญ และวงปี่พาทย์นางหงส์ ส่วนไม้นวม เป็นไม้ตีระนาดที่พันจากผ้า และใช้ด้ายรัดหลาย ๆ รอบเพื่อความสวยงาม มีเสียงนุ่มนวม บรรเลงในวงปี่พาทย์ไม้นวม วงมโหรี วงปี่พาทย์ผสมเครื่องสาย และวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์
ขนาดของระนาดเอก ลูกต้นมีขนาด 39 ซม กว้างราว 5 ซม และหนา 1.5 ซม มีขนาดลดหลั่นลงไปจนถึงลูกที่ 21 หรือลูกยอดที่มีขนาด 29 ซม เมื่อนำผืนระนาด มาแขวนบนรางแล้ว หากวัดจากโขนหัวรางข้างหนึ่งไปยังโขนหัวรางอีกข้างหนึ่ง จะมีความยาวประมาณ 120 ซม

การฝึกหัดบรรเลง
ท่านั่ง
ท่านั่งที่นิยมในการบรรเลงระนาดเอกมี 2 ลักษณะ คือ การนั่งขัดสมาธิ และนั่งพับเพียบ โดยท่านั่งแบบขัดสมาธิถือเป็นท่านั่งที่เหมาะสมสำหรับการบรรเลงระนาดเอกมากที่สุด เพราะเป็นท่านั่งที่มีความเป็นธรรมชาติ มีความสะดวก ผ่อนคลาย ก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบรรเลงได้ดีที่สุด

การจับไม้
ให้ก้านของไม้ระนาดอยู่ในร่องของอุ้งมือ นิ้วทุกนิ้วช่วยควบคุมการจับไม้ มือทั้งสองคว่ำลง ข้อศอกทำมุมฉาก ตำแหน่งแขนซ้ายและขวาขนานกัน ตำแหน่งของนิ้วอาจแตกต่างกันบ้าง แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ

การจับแบบปากกา
ตำแหน่งของนิ้วชี้อยู่บนไม้ระนาด การเริ่มฝึกหัดระนาดเอกควรฝึกหัดโดยลักษณะนี้ ซึ่งนอกจากมีความงดงามแล้วยังมีความสะดวกและมีประสิทธิภาพสูงในการสร้างเสียง การจัดตำแหน่งของนิ้วชี้จะตกไปอยู่ด้านตรงข้ามกับนิ้วหัวแม่มือ ก้านของไม้ระนาดอยู่ในตำแหน่งกึ่งกลางระหว่างปลายนิ้วกับข้อบนของนิ้

การจับแบบปากนกแก้ว
ตำแหน่งของก้านไม้ระนาดอยู่ในตำแหน่งเส้นข้อนิ้วของข้อบน
ตำแหน่งของเสียง
เมื่อเปรียบเทียบระนาดเอกกับเครื่องดนตรีไทยชนิดอื่น ระนาดเอกเป็นเครื่องดนตรีที่มีระดับเสียงมากที่สุด โดยมีจำนวน 21-22 ระดับเสียง ความที่มีจำนวนระดับเสียงถึง 22 เสียง ทำให้มีความกว้างของระดับเสียงครอบคลุมถึง 3 ช่วงทบเสียง ส่งผลให้การเดินทำนองของเสียงเป็นไปอย่างไม่ซ้ำซากจำเจอยู่ที่ช่วงระดับเสียงใดเสียงหนึ่ง

หลักการตีระนาด
หลักปฏิบัติทั่วไป
1. ตีตรงกลางลูกระนาด
2. การเคลื่อนของมือ โดยที่มือซ้ายและมือขวาต้องอยู่ในแนวขนานกัน ตำแหน่งของหัวไม้อยู่กึ่งกลางลูกระนาด และเอียงตามทิศทางของผืนระนาด
3. การยกไม้ เสียงของระนาดเอกจะดังมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับพลังในการตี ควรยกไม้ระนาดให้สูงจากผืนระนาดประมาณ 6 นิ้วสำหรับตีฉาก และ 2 นิ้วสำหรับตีสิม
4. น้ำหนักมือ ต้องลงน้ำหนักของมือซ้ายและมือขวาให้เท่ากัน

ลักษณะการตีระนาด
1.ตีฉาก
2.ตีสิม
3.ตีครึ่งข้อครึ่งแขน
4.ตีข้อ
วิธีการตีระนาด
1.การเก็บ
2.ตีกรอ
3.ตีสะบัด
4.ตีรัว
5.ตีกวาด
           6.ตีขยี้
นักระนาดเอกที่มีชื่อเสียง
1. พระเสนาะดุริยางค์ (ขุนเณร)
2. ครูช้อย สุนทรวาทิน
3. ครูสิน สินธุสาคร
4. ครูสิน ศิลปบรรเลง
5. พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน)
6. พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์)
7. หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)
8. พระเพลงไพเราะ (โสม สุวาทิต)
9. หลวงชาญเชิงระนาด (เงิน ผลารักษ์)
10. จางวางสวน ชิดท้วม



ระนาดทุ้ม : เป็นเครื่องดนตรีที่สร้างขึ้นมาในรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นการสร้างเลียนแบบระนาดเอก ใช้ไม้ชนิดเดียว กันกับระนาดเอก ลูกระนาดทุ้มมีจำนวน 17 หรือ 18 ลูก ลูกต้นยาวประมาณ 42 ซม กว้าง 6 ซม และลดหลั่นลงมาจนถึงลูกยอด ที่มีขนาดยาว 34 ซม กว้าง 5 ซม รางระนาดทุ้มนั้นประดิษฐ์ให้มีรูปร่างคล้ายหีบไม้ แต่เว้าตรงกลางให้โค้ง โขนปิดหัวท้ายเพื่อ เป็นที่แขวนผืนระนาดนั้น ถ้าหากวัดจากโขนด้านหนึ่งไปยังโขนอีกด้านหนึ่ง รางระนาดทุ้มจะมีขนาดยาวประมาณ 124 ซม ปาก รางกว้างประมาณ 22 ซม มีเท้าเตี้ย รองไว้ 4 มุมรางระนาดทุ้ม ทำด้วยไม้ไผ่หรือไม้เนื้อแข็งมีผืนละ ๑๘ ลูก มีรูปร่างคล้ายระนาดเอก แต่เตี้ยกว่าและกว้างกว่าเล็กน้อย ระนาดทุ้มใช้บรรเลงหยอกล้อกับระนาดเอก
หน้าที่ในวงของระนาดทุ้มนั้น ทำหน้าที่เดินทำนองรอง ในทางของตนเองซึ่งจะมีจังหวะโยน ล้อ ขัด ที่ทำให้เกิดความไพเราะและเติมเต็มช่องว่างของเสียง อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของระนาดทุ้ม
  


โปงลาง : เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเคาะหรือเครื่องตี มีลักษณะคล้ายระนาดแต่แขวนในแนวดิ่ง เป็นที่นิยมในภาคอีสาน บางท้องถิ่นอาจเรียกว่า หมากกลิ้งกล่อม หมากขอลอ หรือ เกราะลอ(ผู้เฒ่าผู้แก่ในถิ่นดงมูลอำเภอหนองกุงศรีเรียก "หมากเต๋อเติ่น") เป็นเครื่องดนตรีประจำจังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้พัฒนา นายเปลื้อง ฉายรัศมี ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน) ประจำปี พ.ศ. 2529 ชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ได้ทำการพัฒนาโปงลางจนมีลักษณะเช่นในปัจจุบัน โดยได้พัฒนาโปงลางขึ้นจากเกราะลอ ซึ่งใช้เคาะส่งสัญญาณในท้องนา
การตี การบรรเลงหมากกลิ้งกล่อม หรือโปงลาง นิยมใช้ผู้บรรเลงสองคนต่อเครื่องดนตรีหนึ่งชิ้น แต่ละคนใช้ไม้ตี 2 อัน มี หมอเคาะกับหมอเสิฟ หมอเคาะ คือผู้ที่ตีทำนองของเพลงหรือลายนั้น ส่วนหมอเสิฟ คือผู้ที่ตีประสานจะตี 2 ลูก เช่น ตี ลา-มี หรือ ซอล-เร เป็นต้น การเรียกชื่อเพลงที่บรรเลงด้วยโปงลางมักจะเรียกตามลักษณะและลีลาของเพลงโดย การสังเกตจากสภาพของธรรมชาติที่อยู่รอบ ๆ ตัว เช่น เพลง "ลายนกไซบินข้ามทุ่ง" เพลง "ลายกาเต้นก้อน" เพลง "ลายแมลงภู่ตอมดอกไม้" เป็นต้น
โปงลางนั้นนอกจากจะใช้บรรเลงตามลำพังแล้ว ยังนิยมใช้บรรเลงเป็นวงร่วมกับ เครื่องดนตรีอื่น ๆ เช่น พิณ แคน กลอง เพื่อการฟังและใช้บรรเลงประกอบการฟ้อนพื้น บ้านอีสานได้เป็นอย่างดี ต่อมาภายหลัง อาจารย์เปลื้อง ฉายรัศมี ซึ่งเป็นศิลปินแห่งชาติ ได้ประยุกต์วงโปงลางขึ้นใหม่ โดยนำกระดึงผูกคอวัวที่เป็นโลหะมาแขวนเรียงแทนลูกโปงลางเดิมที่ทำด้วยไม้ ทำให้เกิดมิติของเสียงที่แตกต่างจากการบรรเลงโปงลางแบบเดิม นับเป็นต้นแบบของ การพัฒนาโปงลางในระยะต่อมา เช่น การทำลูกโปงลางด้วยแผ่นทองเหลืองขนาดต่าง ๆ เรียกว่า "หมากกะโหล่ง" รวมถึงการนำเอาไม้ไผ่มาเหลาให้มีขนาดลดหลั่นกัน เรียกว่า "โปงลางไม้ไผ่" และการนำเอาท่อเหล็กมาทำเป็น"โปงลางเหล็ก"ด้วย ทำให้เสียงมีความแตกต่างมากขึ้นและได้นำมาเล่นผสมวงกัน เกิดเป็นวง หมากกะโหล่งโปงลาง โดย วิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์



.๒ เครื่องตีทำด้วยโลหะ ได้แก่ ระนาดเอกเหล็ก ฉิ่ง ระนาดทุ้มเหล็ก ฉาบเล็ก ฉาบใหญ่ ฆ้องมอญ ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ฆ้องเดี่ยว ฆ้องคู่ ฆ้องราว ฆ้องราง มโหระทึก ดังรูป















ระนาดเอกเหล็ก เป็นเครื่องดนตรีที่ประดิษฐ์ขึ้นในรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เดิมลูกระนาดทำด้วยทองเหลือง จึงเรียกกันว่าระนาดทอง ในเวลาต่อมาได้มีการประดิษฐ์ลูกระนาดด้วยเหล็ก ระนาดเอกเหล็กมีจำนวน ๒๐ หรือ ๒๑ ลูก โดยวางไว้บนรางที่มีไม้ระกำวางพาดไปตามของราง หากไม่มีไม้ระกำ ก็อาจใช้ผ้าพันไม้แล้วนำมารองลูกระนาดก็ได้ ลูกต้น ของระนาดเอกเหล็กมีขนาด ๒๓.๕ ซม กว้างประมาณ ๕ ซม ลดหลั่นขึ้นไปจนถึงลูกยอดที่มีขนาด ๑๙ ซม กว้างประมาณ ๔ ซม รางของระนาดเอกเหล็กนั้น ทำเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีเท้ารองรับไว้ทั้ง ๔ ด้านหรืออาจใส่ลูกล้อเพื่อสะดวกในการขนย้ายก็ได้
ระนาดเอกเหล็กบรรเลงเหมือนระนาดเอกทุกประการ เพียงแต่ไม่ได้ทำหน้าที่ผู้นำ

ระนาดทุ้มเหล็ก เป็นเครื่องดนตรีที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ ๔ มีพระราชดำริให้สร้างขึ้น ลูกระนาดทำอย่างเดียวกับระนาดเอกเหล็ก ระนาดทุ้มเหล็กมีจำนวน ๑๖ หรือ ๑๗ ลูก ลูกต้นยาวประมาณ ๓๕ ซม กว้างประมาณ ๖ ซมและลดหลั่นลงไปจนถึงลูกยอดซึ่งยาวประมาณ ๒๙ ซม กว้างประมาณ ๕.๕ ซม ตัวรางระนาดยาวประมาณ ๑ เมตร ปากราง กว้างประมาณ ๒๐ ซม มีชานยื่นออกไปสองข้างราง ถ้านับส่วนกว้างรวมทั้งชานทั้งสองข้างด้วย รางระนาดทุ้มเหล็กจะกว้าง ประมาณ ๓๖ ซม มีเท้ารองติดลูกล้อ ๔ เท้า เพื่อให้เคลื่อนที่ไปมาได้สะดวก ตัวรางสูงจากพื้นถึงขอบบนประมาณ ๒๖ ซมระนาด ทุกชนิดที่กล่าวมานั้น จะใช้ไม้ตี ๒ อัน
ระนาดทุ้มเหล็กทำหน้าที่เดินทำนองคล้ายฆ้องวงใหญ่ เพียงแต่เดินทำนองห่างกว่า


ฉิ่ง : เป็นเครื่องดนตรีไทยประเภทตี ทำด้วยทองเหลือง หล่อหนา ปากผายกลม ๑ ชุด มี ๒ ฝา ฉิ่งมี ๒ ชนิดคือ ฉิ่งสำหรับวงปี่พาทย์ และ ฉิ่งที่ใช้สำหรับวงเครื่องสายและวงมโหรี ฉิ่งสำหรับวงปี่พาทย์มีขนาดที่วัดผ่านศูนย์กลาง จากขอบข้างหนึ่งไปสุดขอบอีกข้างหนึ่ง กว้างประมาณ ๖ – ๖.๕ ซม เจาะรูตรงกลางสำหรับร้อยเชือก เพื่อให้จับสะดวกขณะตี ส่วนฉิ่งสำหรับวงเครื่องสายและวงมโหรีนั้น มีขนาดเล็กกว่า วัดผ่านศูนย์กลางได้ขนาดประมาณ ๕.๕ ซม
เนื่องจากการตีฉิ่ง ต้องเอาขอบของฝาข้างหนึ่งกระทบกับอีกฝากหนึ่ง แล้วยกขึ้น ก็จะมีเสียงดังกังวานยาวดัง ฉิ่ง แต่ถ้าเอาทั้ง ๒ ฝานั้นกระทบและประกบกันไว้ จะได้ยินเสียงดังสั้นๆ ดัง ฉับ ดังนั้นการเรียกชื่อเครื่องดนตรีชนิดนี้ว่า ฉิ่ง ก็เพราะเรียกตามเสียงที่เกิดขึ้นนั่นเอง

ฉาบเล็ก มีหน้าที่ตีหยอกล้อยั่วเย้าไปกับฉิ่งหรือให้สอดคล้องกับทำนองเพลงเป็นเครื่องตีที่ทำด้วยโลหะ รูปร่างคล้ายฉิ่งแต่หล่อบางกว่าฉิ่ง มีขนาดใหญ่กว่าและกว้างกว่า ตอนกลางมีปุ่มกลมทำเป็นกระพุ้งวางลงในอุ้งมือ ขอบนอกแบนราบออกไปโดยรอบ เจาะรูตรงกลางกระพุ้งไว้ร้อยเส้นเชือกหรือเส้นหนังสำหรับถือ ฉาบเล็ก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑๒-๑๔ ซม. เวลาตีใช้เป็นคู่ ตีกระทบกันให้เกิดเสียงตามจังหวะ

ฉาบใหญ่ เป็นเครื่องดนตรีประเภทตี ทำด้วยโลหะคล้ายฉิ่ง แต่หล่อให้บางกว่า ฉาบใหญ่มีขนาดที่วัดผ่าน ศูนย์กลางประมาณ ๒๔ –๒๖ ซม เวลาบรรเลงใช้ ๒ ฝามาตีกระทบกันให้เกิดเสียงตามจังหวะ เมื่อฉาบทั้งสองข้างกระทบกันขณะตีประกบกันก็ จะเกิดเสียง ฉาบ แต่ถ้าตีแล้วเปิดเสียงก็จะได้ยินเป็น แฉ่ง แฉ่ง แฉ่ง เป็นต้น


ฆ้องวงใหญ่ เป็นหลักของวงปี่พาทย์ และวงมโหรีใช้บรรเลงทำนองหลัก มีลูกฆ้อง ๑๖ ลูก ประกอบด้วยส่วนสำคัญ ๒ ส่วน คือ
๑. ลูกฆ้อง เป็นส่วนกำเนิดเสียงทำด้วยโลหะผสม มีลักษณะคล้ายถ้วยกลม ๆ ใหญ่เล็กเรียงตามลำดับเสียงต่ำสูง ด้านบนมีตุ่มนูนขึ้นมาใช้สำหรับตีและใต้ตุ่มอุดไว้ด้วยตะกั่วผสมชันโรง เพื่อถ่วงเสียงให้สูงต่ำตามต้องการ
๒. เรือนฆ้อง ทำด้วยหวายขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑ นิ้วเศษ ขดเป็นวง และยึดไว้ด้วยไม้เนื้อแข็ง กลึงเป็นลวดลายคล้ายลูกกรง และมีไม้ไผ่เหลาเป็นซี่ ๆ ค้ำยันให้ฆ้องคงตัวเป็นโครงสร้างอยู่ได้ การผูกลูกฆ้องแขวนเข้ากับเรือนฆ้องผูกด้วยเชือก 

ฆ้องวงเล็ก มีขนาดเล็กกว่า แต่เสียงสูงกว่าฆ้องวงใหญ่มีวิธีตีเช่นเดียวกับฆ้องวงใหญ่ แต่ดำเนินทำนองเป็นทางเก็บหรือทางอื่นแล้วแต่กรณี บรรเลงทำนองแปรจากฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็กมี ๑๘ ลูก



ฆ้องมอญ เป็นเครื่องดนตรีที่ได้รับอิทธิพลมาจากมอญมีลักษณะตั้งโค้งขึ้นไป ไม่ตั้งราบกับพื้นแบบฆ้องไทย วงฆ้องทำจากไม้แกะสลักปิดทองอย่างสวยงาม ทางโค้งด้านซ้ายของผู้ตีแกะเป็นรูปต่างๆตามต้องการ แต่ส่วนใหญ่จะนิยมรูปเทวดา ทางโค้งด้านขวาทำเป็นรูปปลายหาง มีเท้ารองตรงกลางเหมือนระนาดเอก ฆ้องมอญมีลูกฆ้อง ๑๕ ลูก แต่ฆ้องมอญจะไม่เรียงเสียงเหมือนฆ้องไทย ในบางช่วงมีการข้ามเสียง เรียกเสียงที่ข้ามว่า"หลุม"
ฆ้องมอญทำหน้าที่เดินทำนองเพลงเช่นเดียวกับฆ้องวงใหญ่ของไทย ฆ้องมอญมี ๒ ขนาดเหมือนกับฆ้องไทยคือ ฆ้องมอญใหญ่และฆ้องมอญเล็ก
ฆ้องมอญใช้เล่นในวงปี่พาทย์มอญ

ฆ้องคู่ เป็นฆ้องที่มี ๒ ใบมีขนาดเล็ก เสียงต่ำใบหนึ่ง เสียงสูงใบหนึ่ง ใช้ตีกำกับจังหวะ ชุดหนึ่งมีสองลูก ลูกใหญ่ให้เสียงต่ำ ลูกเล็กให้เสียงสูง ไม้ตีทำด้วย แผ่นหนังวัว หรือ ใบหนังควายตัดเป็นวงกลม เจาะรูตรงกลางใส่ก้านไม้ ใช้บรรเลงในการเชิดหนังตะลุงและละครโนราชาตรี ชุดหนึ่งมี ๒ ลูกปักษ์ใต้เรียก โหม่ง

ฆ้องเหม่ง : เป็นฆ้องขนาดเขื่องกว่าฆ้องกระแต หนามาก มีเชือกร้อยรู ทั้ง ๒ ที่ใบฉัตร แขวนห้อยกับไม้สําหรับถือตีประกอบจังหวะในวงเครื่องสายหรือปี่พาทย์ ผู้ตีนั่งขัดสมาธิ ให้ฆ้องวางอยู่ตรงหน้า จับไม้ตีตีตรง กลางปุ่มด้วยน้ำหนักพอประมาณเนื่องจากฆ้องชนิดนี้มีเสียงดังกังวานยาวนาน จึงนิยมตีห่างๆ คือสองฉิ่งสอง ฉับต่อการตีโหม่งครั้งหนึ่ง แต่ถ้าเป็นวงกลองยาวหรือวงมังคละ จะนิยมตีลงที่จังหวะหนัก(ฉับ)ตลอดโดยไม่เว้น

ฆ้องโหม่ง : เป็นฆ้องขนาดใหญ่กว่าฆ้องเหม่ง มีเชือกร้อยรูทั้ง ๒ ที่ใบฉัตร แขวนห้อยทางตั้งกับขาหยั่งหรือคานไม้ ตรงหัวไม้ที่ใช้ตีพันด้วยผ้ากับ เชือกให้เป็นปุ่มโตอ่อนนุ่ม เวลาตีจะมีเสียงดังโหม่ง ๆ ใช้ตีกำกับจังหวะ ในวงปี่พาทย์ วงเครื่องสาย หรือวงมโหรีสมัยโบราณใช้ตีในเวลา กลางวันเป็นสัญญาณบอก 'โมงคู่กับกลองที่ตีเป็นสัญญาณในเวลา กลางคืนบอก 'ทุ่ม'.

ฆ้องโหม่งสามใบ ฆ้องโหม่งเป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องกำกับจังหวะ ตัวลูกฆ้องนั้นทำจากโลหะหลายชนิด เช่น สัมฤทธิ์ ทองเหลือง เป็นต้น โดยนำโลหะนั้นๆมาทำการหลอมให้อ่อนตัวและใช้กรรมวิธีตีขึ้นรูปเช่นเดียวกับลูกฆ้อง หรืออาจจะใช้วิธีการเทโลหะเหลวลงแม่พิมพ์เช่นการทำฆ้องหล่อ
โหม่งสามใบ เป็นฆ้อง ๓ ใบ มีขนาดลดหลั่นกัน ใช้แขวนราวเรียงไปตามขนาด เมื่อตีตีเรียงไปตามลำดับแล้วย้อนกลับ

มโหระทึก : เป็นกลองชนิดหนึ่ง มีหน้าเดียว และหล่อด้วยโลหะ ไม่ขึงหนังเหมือนกลองทั่ว ๆ ไป ตัวกลองเป็นโลหะผสมประกอบด้วย ทองแดง ตะกั่ว และดีบุกผสมตามเกณฑ์ แล้วหลอมเทหล่อลงในแบบที่ทำไว้ บนหน้ากลองมีโลหะหล่อเป็นตัวกบอยู่ประจำ ๔ ทิศ ทั้งนี้อาจเป็นไปได้ว่า กลองชนิดนี้แต่เดิมคงสร้างขึ้นสำหรับตีขอฝน เพราะเชื่อกันว่า เมื่อกบร้องแล้วจะเป็นเหตุให้ฝนตก (เสียงกลองเป็นเสมือนเสียงกบร้อง)
กลองมโหระทึกนี้ ไทยเรานิยมใช้ตีประโคมทั้งงานหลวง และงานราษฎร์มาแต่โบราณ (ปรากฏหลักฐานมีกล่าวถึงไว้ในหนังสือไตรภูมิพระร่วงสมัยสุโขทัย) และในปัจจุบันยังคงใช้ตีประโคมร่วมกับแตรสังข์ ในงานพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น ในโอกาสที่พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตรา เป็นต้น ในการใช้ไม้ตี ๒ อัน ทำด้วยไม้รวก หรือไม้จริงเหลากลมเกลี้ยง ขนาดพอเหมาะ ตรงปลายที่ใช้ตีพันด้วยผ้าจนแน่นแล้วผูกเคียน หรือถักด้วยด้าย

ฆ้องชัย : เป็นฆ้องขนาดใหญ่ซึ่งตีคู่กับกลองสะบัดชัย  สมัยโบราณใช้ตีเวลาออกรบ  เพราะมีความเชื่อว่าถ้าตีกลองชัยฆ้องชัยแล้วเป็นการได้ชัยชนะแล้วครั้งหนึ่ง  และยังใช้ตีเพื่อแห่เจ้าเมืองที่ออกไปป่าแล้วกลับเข้ามาปกครองบ้านเมือง ในปัจจุบันใช้ตีในงานพิธีมงคลต่างๆ ฆ้องหุ่ย ก็เรียก






.๓ เครื่องตีที่ขึงด้วยหนัง ได้แก่ กลองทัด กลองชาตรี ตะโพนไทย ตะโพนมอญ กลองตะโพน โทนชาตรี โทนมโหรี รำมะนามโหรี รำมะนาลำตัด กลองแขก กลองมลายู กลองชนะ เปิงมางคอก กลองสองหน้า ตะโล้ดโป็ด บัณเฑาะว์ กลองยาว กลองแเอว กลองสะบัดไชย





















          กลองแขก กลองที่ตีหน้าทับได้ทั้งในวงปี่พาทย์ มโหรีและบางกรณีใช้ในวงเครื่องสายก็ได้ ตีด้วยมือทั้ง ๒ หน้า คู่หนึ่งประกอบด้วยตัวผู้ (เสียงสูง) และตัวเมีย (เสียงต่ำ)

กลองแขก : เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องตีที่มีรูปร่างยาวเป็นรูปทรงกระบอก ขึ้นหนังสองข้างด้วยหนังลูกวัวหรือหนังแพะ. หน้าใหญ่ กว้างประมาณ ๒๐ cm เรียกว่า หน้ารุ่ยหรือ "หน้ามัด" ส่วนหน้าเล็กกว้างประมาณ ๑๕ cm เรียกว่า หน้าต่านหรือ"หน้าตาด" ตัวกลองหรือหุ่นกลองสามารถทำขึ้นได้จากไม้หลายชนิดแต่โดยมากจะนิยมใช้ไม้เนื้อแข็งมาทำเป็นหุ่นกลอง เช่นไม้ชิงชัน ไม้มะริด ไม้พยุง กระพี้เขาควาย ขนุน สะเดา มะค่า มะพร้าว ตาล ก้ามปู เป็นต้น ขอบกลองทำมาจากหวายผ่าซีกโยงเรียงเป็นขอบกลองแล้วม้วนด้วยหนังจะได้ขอบกลองพร้อมกับหน้ากลอง และถูกขึงให้ตึงด้วยหนังเส้นเล็ก เรียกว่าหนังเรียดเพื่อใช้ในการเร่งเสียงให้หน้ากลองแต่ละหน้าได้เสียงที่เหมาะสมตามความพอใจ กลองแขกสำรับหนึ่งมี ๒ ลูก ลูกเสียงสูงเรียก ตัวผู้ ลูกเสียงต่ำเรียก ตัวเมีย ตีด้วยฝ่ามือทั้งสองข้างให้สอดสลับกันทั้งสองลูก
ลักษณะเสียง
กลองแขกตัวผู้ มีเสียงที่สูงกว่ากลองแขกตัวเมียโดย เสียง "ติง" ในหน้ามัด และเสียง โจ๊ะ ในหน้าตาด
กลองแขกตัวเมีย มีเสียงที่ต่ำกว่ากลองแขกตัวผู้ โดย เสียง ทั่ม ในหน้ามัด และเสียง จ๊ะ ในหน้าตาด
วิธีการบรรเลง
การบรรเลงนั้นจะใช้มือตีไปทั้งสองหน้าตามแต่จังหวะหรือหน้าทับที่กำนดไว้ ในหน้าเล็กหรือหน้าตาด จะใช้นิ้วชี้หรือนิ้วนางในการตี เพื่อให้เกิดเสียงที่เล็กแหลม ในหน้ามัดหรือหน้าใหญ่ จะใช้ฝ่ามือตีลงไปเพื่อให้เกิดเสียงที่หนักและแน่น ซึ่งมีวิธีการบรรเลงที่ละเอียดอ่อนลงไปอีกตามแต่กลวิธีที่ครูอาจารย์แต่ละท่านจะชี้แนะแนวทางการปฏิบัติ

กลองมลายู : มีลักษณะเดียวกับกลองแขก แต่สั้นและอ้วนกว่า หน้าหนึ่งใหญ่ อีกหน้าหนึ่งเล็กขึ้นหนังสองหน้า เร่งให้ตึงด้วยหนังรูดให้แน่น สายโยงเร่งเสียงทำด้วยหนัง หน้าใหญ่อยู่ทางขวาตีด้วยไม้งอ หน้าเล็กตีด้วยฝ่ามือ ใช้บรรเลงคู่เหมือนกลองแขก ลูกเสียงสูงเรียกว่า"ตัวผู้" ลูกเสียงต่ำเรียกว่า"ตัวเมีย" ใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์นางหงส์และวงบัวลอย



กลองสองหน้า : สันนิษฐานว่าเริ่มนำมาใชในสมัยรัชกาลที่ ๒ มีลักษณะคล้ายลูกเปิงมาง แต่ใหญ่กว่า หน้ากลองด้านกว้างเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒๑ - ๒๔ เซนติเมตร ด้านเล็กเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒๐ - ๒๒ เซนติเมตร ตัวกลองยาว ๕๕ - ๕๘ เซนติเมตร ใช้ในวงปี่พาทย์เสภาและใช้ตีประกอบจังหวะการเดี่ยวเครื่องดนตรีต่างๆด้วย

เปิงมางคอก : เป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่ง แต่เดิมเป็นเครื่องดนตรีของชาวมอญ ใช้ตีหยอกล้อกับตะโพนมอญ มีลักษณะเป็นกลองขนาดต่างกัน ๗ ลูกผูกเป็นราวในชุดเดียวกัน เรียงจากใหญ่ไปหาเล็ก ตัวกลองขึงด้วยหนังสองหน้า ขึ้นหน้าด้วยหนังเรียดโยงสายเร่งหนังหน้ากลองเป็นแนวยาวตลอด เวลาบรรเลงต้องติดข้าวสุกบดผสมขี้เถ้า คอกเปิงมางทำเป็นรั้ว ๓ ชิ้นติดต่อกัน มีตะขอแขวนลูกเปิงเป็นระยะ คอกเป็นรูปเกือบครึ่งวงกลม เปิงมางคอกใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์มอญ

บัณเฑาะว์ : เป็นเครื่องดนตรีประเภทกลองจากอินเดีย มีลักษณะหัวและท้ายใหญ่ ตรงกลางคอด ขนาดประมาณ ๑๕ เซนติเมตร ใช้เชือกผูกกับลูกตุ้ม กลองชนิดนี้ไม่ใช้ตีด้วยไม้ด้วยมือ แต่ใช้มือถือพลิกข้อมือกลับไปกลับมา ให้ลูกตุ้มที่ปลายเชือกกระทบหนังหน้ากลองทั้งสองด้าน
ชื่อบัณเฑาะว์ มาจากคำบาลีว่า "ปณวะ" ในอินเดียเรียกว่า "ฑมรุ" (อักษรเทวนาครี डमरू; ḍamaru) เป็นเครื่องดนตรีที่พบเห็นในหัตถ์ขวาของพระศิวะ
ในประเทศไทย บัณเฑาะว์ใช้เป็นเครื่องให้จังหวะในการบรรเลงประกอบ "ขับไม้" ในงานพระราชพิธี เช่น ขับกล่อมสมโภชพระมหาเศวตฉัตร สมโภชพระยาช้างเผือกและช้างสำคัญ เรียกว่า "ขับไม้บัณเฑาะว์" โดยอาจใช้บัณเฑาะว์ลูกเดียว หรือใช้บัณเฑาะว์ ๒ ลูก ไกวพร้อมกันทั้งสองมือ


กลองชนะ : มีรูปร่าง และ ส่วนประกอบ เช่นเดียวกับ กลองแขก และกลองมลายู แต่ ตัวกลอง สั้น และ อ้วนกว่ากลองทั้ง ๒ ดังกล่าว ตามลำดับ และ มีการ ทาสี ปิดทอง เขียนลาย ไว้ที่ตัวกลอง และที่หน้ากลองด้วย เวลาตี ใช้ไม้ งอโค้ง ตีเหมือน กลองมลายู
แต่เดิมคงใช้กลองชนิดนี้ตีเป็นจังหวะ ในการฝึกหัดเพลงอาวุธสำหรับทหาร จึงเรียกชื่อว่า "กลองชนะ" เพื่อเป็นมงคลนิมิตแก่กองทัพ ต่อมา ใช้เป็น เครื่องประโคม ในกระบวน เสด็จพยุหยาตรา และใช้ประโคม พระบรมศพ และศพเจ้านายด้วย

กลองแอว์ : เป็นกลองขึ้นหนังหน้าเดียวเช่นเดียวกับกลองยาวของภาคกลาง แต่มีขนาดยาวและใหญ่กว่าหลายเท่า เหตุที่เรียกว่ากลองแอว์ ก็หมายความว่า กลองมีสะเอวนั่นเอง (แอว์คือเอว) ตัวกลองกว้างใหญ่ เอวคอด ตอนท้ายเรียว และปลายบานคล้ายดอกลำโพง
กลองชนิดนี้มีประจำตามวัดต่างๆ ในภาคเหนือเกือบทุกวัด สำหรับใช้ตีเป็นสัญญาณประจำวัด นอกจากนี้ ยังใช้ตีร่วมกับเครื่องดนตรีอื่น ๆ ประกอบการเล่นพื้นเมือง และใช้ตีเข้าขบวนแห่ในงานพิธี "ปอยหลวง" งานแห่ครัวทาน และงาน "ปอยลูกแก้ว" (บวชเณร)
ตะโล้ดโป๊ด : เป็นเครื่องดนตรีประเภทกลองชนิดหนึ่ง ที่ขึงด้วยหนังสองหน้า ลักษณะการหุ้มหน้ากลองใช้สายเร่งเสียงดึงโดยโยงเสียงสอดสลับกันไปมาระหว่างหูหิ่งทั้งสองหน้า ตัวกลองมีลักษณะยาวคล้ายกับ "เปิงมาง" และ "สองหน้า" แต่ตัว กลองยาวกว่าเปิงมาง และสองหน้า ตัวกลองทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ขุดเจาะโพรงภายในทั้งสองหน้าอยู่ในลักษณะบัวคว่ำและบัวหงาย มีท่อนำเสียงตรงกลาง ใช้ตีประกอบจังหวะร่วมกับกลองแอว์ อาจเป็นวงกลองตึ่งนง เปิ้งมง ตกเส้ง หรือ กลองอืด ก็ได้ วงกลองเหล่านี้มักบรรเลงเป็นมหรสพในงานบุญ หรือในการเล่นเพลงพื้นเมืองภาคเหนือ เช่น ประกอบการฟ้อนเล็บ ฟ้อน เทียน และในขบวนแห่โดยทั่วไป

กลองสะบัดชัย เป็นกลองที่มีมานานแล้วนับหลายศตวรรษ ในสมัยก่อนใช้ ตียามออกศึกสงคราม เพื่อเป็นสิริมงคล และเป็น ขวัญกำลังใจให้แก่เหล่าทหารหาญในการต่อ สู้ให้ได้ชัยชนะ ทำนองที่ใช้ในการตี กลองสะบัดชัยโบราณมี 3 ทำนอง คือ ชัยเภรีชัย ดิถี และชนะมาร
การตีกลองสะบัดชัยเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านล้านนาอย่างหนึ่ง ซึ่งมักจะพบเห็นในขบวนแห่หรืองานแสดงศิลปะพื้นบ้านในระยะหลังโดยทั่วไป ลีลาในการตีมีลักษณะโลดโผนเร้าใจมีการใช้อวัยวะหรือส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่นศอก เข่า ศีรษะ ประกอบในการตีด้วย ทำให้การแสดงการตีกลองสะบัดชัยเป็นที่ประทับใจของผู้ที่ได้ชม จนเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน


กลองยาว : เป็นเครื่องดนตรี สำหรับตีด้วยมือ ตัวกลองทำด้วยไม้ มีลักษณะกลมกลวง ขึงด้วยหนังมีหลายชนิด ถ้าทำด้วยหนังหน้าเดียว มีรูปยาวมากใช้สะพายในเวลาตี เรียกว่ากลองยาวหรือเถิดเทิง
ประวัติกลองยาว
เชื่อกันว่ากลองยาวได้แบบอย่างมาจากพม่า ในสมัยกรุงธนบุรี หรือต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยที่ไทยกับพม่ากำลังทำสงครามกัน เวลาพักรบ พวกทหารพม่าก็เล่น "กลองยาว" กันสนุกสนาน พวกชาวไทยได้เห็นก็จำแบบอย่างมาเล่นบ้าง แต่บางท่านก็เล่าว่า กลองยาวของพม่าแบบนี้ มีชาวพม่าพวกหนึ่งนำเข้ามาเล่นในงานที่มีกระบวนแห่ เช่น บวชนาค ทอดกฐิน เป็นต้น และนิยมเล่นกันเป็นที่รื่นเริง สนุกสนานในเทศกาลสงกรานต์ และเล่นกันแพร่หลายไปแทบทุกหัวบ้านหัวเมือง วงหนึ่งๆ จะใช้กลองยาวหลายลูกก็ได้ เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงร่วม มี ฉิ่งฉาบเล็กกรับโหม่ง เรียกการเล่นชนิดนี้ว่า "เถิดเทิง" หรือ "เทิงกลองยาว" ที่เรียกเช่นนี้เข้าใจว่า เรียกตามเสียงกลองที่ตีและตามรูปลักษณะกลองยาว


กลองทัด : เป็นกลองสองหน้าขนาดใหญ่ ขึ้นหน้าทั้งสองข้างด้วยหนังวัวหรือหนังควาย ตรึงด้วยหมุด หุ่นกลองทำจากไม้เนื้อแข็ง กลึงคว้านข้างในจนเป็นโพรง ป่องตรงกลางนิดหน่อยหมุดที่ตรึง หนังเรียกว่าแส้ ทำด้วยไม้หรืองาหรือกระดูกสัตว์ตรงกลางหุ่น กลองมีห่วงสำหรับแขวน เรียกว่า หูระวิง กลองทัดมีขนาดหน้ากว้างเท่ากันทั้งสองข้าง วัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ประมาณ ๔๖ ซม ตัวกลองยาวประมาณ ๔๑ ซม กลองทัดมี ๒ ลูก ลูกที่มีเสียงสูง ดัง ตุ้ม เรียกว่า ตัวผู้ และ ลูกที่มีเสียงต่ำตีดัง ต้อม เรียกว่า ตัวเมีย ใช้ไม้ตี ๑ คู่ มีขนาดยาวประมาณ ๕๔ ซม กลองทัดใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์ โดยเล่นคู่กับตะโพน


กลองชาตรี : เป็นกลองสองหน้า มีรูปร่างเหมือนกลองทัดทุกอย่างแต่ขนาดย่อส่วนเปรียบเหมือนแม่กับลูก กลองชาตรีเป็นลูก มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวประมาณ ๒๐ ซม. และสูง ๒๔ ซม.ใช้เป็นคู่เช่นเดียวกัน ใช้ทำหน้าทับในวงปี่พาทย์เครื่องห้า หรือวงปี่พาทย์ชาตรี ประกอบการแสดงละครโนรา ใช้เล่นคู่กับโทนชาตรี


ตะโพนไทย : เป็นเครื่องดนตรีที่ขึงด้วยหนัง ตัวตะโพนทำด้วยไม้สักหรือไม้ขนุน เรียกว่า หุ่น ขุดแต่งให้เป็นโพรงภายใน ขึ้นหนัง ๒ หน้า ดึงด้วยสายหนังโยงเร่งเสียงเรียกว่า หนังเรียด หน้าใหญ่มีความกว้างประมาณ ๒๕ ซม เรียกว่า หน้าเท่ง ติดหน้าด้วยข้าวสุกบดผสมกับขี้เถ้าเพื่อถ่วงเสียง อีกหน้าหนึ่งเล็กกว่ามีขนาดประมาณ ๒๒ ซม เรียกว่า หน้ามัด ตัวกลองยาวประมาณ ๔๘ ซม รอบ ๆ ขอบหนังที่ขึ้นหน้า ถักด้วยหนังที่ตีเกลียวเป็นเส้นเล็กๆ เรียกว่า ไส้ละมาน แล้วจึงเอาหนังเรียดร้อยในช่วงของไส้ละมานทั้งสองข้าง โยงเรียงไปโดยรอบจนมองไม่เห็นไม้หุ่น มีหนังพันตรงกลางเรียกว่า รัดอก ข้างบนรัดอกทำเป็นหูหิ้วและมีเท้ารองให้ ตัวตะโพนวางนอนอยู่บนเท้า ใช้ฝ่ามือซ้ายขวาตีได้ทั้งสองหน้า ใช้สำหรับบรรเลงผสมอยู่ในวงปี่พาทย์ ทำหน้าที่กำกับจังหวะหน้าทับต่าง ๆ
ตะโพนนี้ ถือเป็นบรมครูทางดุริยางคศิลป์ นับว่าพระประโคนธรรพ เป็นครูตะโพน เมื่อจะเริ่มการบรรเลง จะต้องนำดอกไม้ธูปเทียน บูชาตะโพนก่อนทุกครั้ง และถือเป็นประเพณีสืบต่อกันมา เหตุที่ต้องกราบใหว้บูชาก็เพราะ ตะโพนเป็นเครื่องดนตรีที่บรรเลงร่วมกับ สังข์ บัณเฑาะว์ และ มโหระทึก ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีประจำองค์ของเทพเจ้า และสมมุติเทพ ดังนี้คือ สังข์ประจำพระองค์พระนารายณ์ และพระอินทร์ บัณเฑาะว์ ประจำองค์พระอิศวร มโหระทึก เป็นเครื่องดนตรีบรรเลงประกอบพระอิศริยยศองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งถือเป็นสมมุติเทพส่วนตะโพนนั้นเป็นกลองที่พระคเณศได้เป็นผู้ตีเป็นคนแรก ดังนั้น ตะโพนเมื่อนำมาร่วมบรรเลงในวงปี่พาทย์ จึงถือเป็นบรมครู และทำหน้าที่กำกับหน้าทับต่างๆทั้งหมด


ตะโพนมอญ : มีลักษณะคล้ายตะโพนของไทย แต่ใหญ่กว่า และตรงกลางหุ่นป่องน้อยกว่า มีเสียงกังวานลึกกว่าตะโพนไทย หน้าใหญ่เรียกว่า"เมิกโหน่ก" หน้าเล็กเรียกว่า"เมิกโด้ด" เป็นภาษามอญ
ตะโพนมอญใช้บรรเลงผสมกับวงปี่พาทย์มอญ มีหน้าที่บรรเลงหน้าทับ และกำกับจังหวะต่างๆ


กลองตะโพน : คือตะโพนที่นำมาตีแบบกลองทัด กลองตะโพนใช้ตะโพน ๒ ลูก เสียงสูงและเสียงต่ำแล้วนำมาตั้งขึ้นแบบกลองทัด ใช้ไม้ระนาดนวมเป็นไม้ตี ใช้เล่นในวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ นอกจากนี้ยังใช้แทนกลองทัดในวงปี่พาทย์ไม้นวมเมื่อบรรเลงภายในอาคาร เพื่อไม่ให้เสียงดังเกินไป


โทน เป็นชื่อของเครื่องหนัง ที่ขึงหนังหน้าเดียว มีสายโยงเร่งเสียงจากขอบหนังถึงคอ มีหางยื่นออกไปและบานปลาย มีชื่อเรียกคู่กันว่า โทนทับ โดยลักษณะรูปร่างนั้น โทนมีชื่อเรียกกันได้ตามรูปร่างที่ปรากฏ ๒ ชนิดคือ โทนชาตรี และ โทนมโหรี

๑. โทนชาตรี : ตัวโทนทำด้วยไม้ขนุน ไม้สัก หรือ ไม้กะท้อนมีขนาดปากกว้าง ๑๗ ซม ยาวประมาณ ๓๔ ซม มีสายโยงเร่งเสียงใช้หนังเรียด ตีด้วยมือข้างหนึ่ง ส่วนอีกมือหนึ่งคอยปิดเปิด ปลายหางที่เป็นปากลำโพง ช่วยให้เกิดเสียงต่างๆ ใช้สำหรับ บรรเลงประกอบการแสดงละครชาตรี และหนังตะลุง และตีประกอบจังหวะในวงปี่พาทย์ หรือวงเครื่องสาย หรือวงมโหรีที่เล่นเพลงภาษาเขมร หรือ ตะลุง

๒. โทนมโหรี : ตัวโทนทำด้วยดินเผา ด้านที่ขึงหนังโตกว่า โทนชาตรี ขนาดหน้ากว้างประะมาณ ๒๒ ซม ยาวประมาณ ๓๘ ซม สายโยงเร่งเสียงใช้หวายผ่าเหลาเป็นเส้นเล็กหรือใช้ไหมฟั่นเป็นเกลียว ขึ้นหนังด้วยหนังลูกวัว หนังแพะ หนังงูเหลือม หรือหนังงูงวงช้าง ใช้สำหรับบรรเลงคู่กับรำมะนา โดยตีขัดสอดสลับกัน ตามจังหวะหน้าทับ


           รำมะนา : เป็นกลองที่ขึงหนังหน้าเดียว หน้ากลองที่ขึงหนังผายออก ตัวกลองสั้น รูปร่างคล้ายชามกะละมัง มีอยู่ ๒ ชนิด คือ "รำมะนามโหรี" และ "รำมะนาลำตัด"
๑. รำมะนามโหรี มีขนาดเล็ก หน้ากว้างประมาณ ๒๖ ซม ตัวรำมะนายาว ประมาณ ๗ ซม หนังที่ขึ้นหน้าตรึงด้วยหมุดโดยรอบ จะเร่งหรือลดเสียงให้สูงต่ำไม่ได้ แต่มีเชือกเส้นหนึ่งที่เรียกว่า สนับ สำหรับหนุนข้างในโดยรอบ ช่วยทำให้เสียงสูงได้ บรรเลงใช้ตีด้วยฝ่ามือคู่กับโทนมโหรี


๒. รำมะนาลำตัด มีขนาดใหญ่ หน้ากว้างประมาณ ๔๘ ซม. ตัวรำมะนายาวประมาณ ๑๓ ซม. ขึ้นหนังหน้าเดียว โดยใช้เส้นหวายผ่าซีกโยงระหว่างขอบปน้ากับวงเหล็กซึ่งรองก้นใช้เป็นขอบ ของตัวรำมะนา และใช้ลิ่มหลายๆ อันตอกเร่งเสียงระหว่างวงเหล็กกับก้นรำมะนา รำมะนาชนิดนี้เข้าใจว่าได้แบบอย่างมาจากชวาและเข้ามาแพร่หลายในสมัยรัชกาลที่ ๕ ใช้ประกอบการเล่นลำตัดและลิเกลำตัด ในการประกอบการเล่นลำตัดนั้นจะใช้รำมะนากี่ลูกก็ได้ โดยให้คนตีนั่งล้อมวงและเป็นลูกคู่ร้องไปด้วย




๔. เครื่องเป่า
           เครื่องเป่าที่มนุษย์รู้จักใช้มาแต่เดิม ได้แก่พวกหลอดไม้ไผ่ ใส่ลูกดอกใช้เป่าในการล่าสัตว์ ต่อมาใช้เป่าเขาสัตว์เป่าเพื่อบอกเหตุต่างๆ ระยะหลังรู้จักทำลิ้นและเจาะรูให้สามารถเปลี่ยนระดับเสียงได้ นำมาเล่นเป็นทำนอง เช่น ขลุ่ย และ ปี่ชนิดต่าง ๆ
เครื่องเป่า คือ เครื่องดนตรีทีทำให้เกิดเสียงด้วยการเป่า มี ๒ ประเภท คือ 
๑.ไม่มีลิ้น 
.มีลิ้น

.๑ เครื่องเปาที่ไม่มีลิ้น ได้แก่ ขลุยหลีบ ขลุ่ยเพียงออ ขลุยอู้ และสังข์
ขลุ่ย เป็นเครื่องเป่าดั้งเดิมของไทย มีรูสำหรับนับเสียงสูง ต่ำ ๗ รู นอกจากใช้เป่าเล่นเพื่อความบันเทิงแล้ว ยังใช้เป่าร่วมในวงเครื่องสาย วงปี่พาทย์ไม้นวม วงมโหรี และวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์อีกด้วย ขลุ่ย มักทำจากไม้รวก ไม้ชิงชัน ไม้พะยูง และงาช้าง แต่ที่ทำจากไม้รวกจะให้เสียงนุ่มนวล ไพเราะกว่า ขลุ่ยมี ๕ ชนิด คือ ขลุ่ยกรวด ขลุ่ยนก ขลุ่ยเพียงออ ขลุ่ยหลีบ และขลุ่ยอู้ ขลุ่ยมีส่วนประกอบดังนี้
เลาขลุ่ย คือ ตัวขลุ่ย มีขนาดแตกต่างกันไปตามชนิดของขลุ่ย มักนิยมประดิษฐ์ลวดลายต่าง ๆ ลงบนตัวขลุ่ย เช่น ลายดอกพิกุล ลายหิน และลายลูกระนาด เป็นต้น
ดาก คือ ไม้อุดปากขลุ่ย นิยมใช้ในไม้สักทอง เหลากลมให้คับแน่นกับร่องภายในของปากขลุ่ย ฝานให้เป็นช่องว่าง ลาดเอียงตลอดชิ้นดาก ให้เป่าลม ผ่านไปได้
รูเป่า เป็นรูสำหรับเป่าลมเข้าไป
รูปากนกแก้ว เป็นรูที่เจาะร่องรับลม จากปลายดากภายในขลุ่ย อยู่ด้านเดียวกับรูเป่า อยู่สุดปลายดากพอดี เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า รูปากนกแก้วนี้ทำให้เกิดเสียง เทียบได้กับลิ้นของขลุ่ย
รูเยื่อ เป็นรูสำหรับบิดวัสดุที่ทำให้เสียงสั่นพริ้ว มักใช้เยื่อไม้ไผ่ หรือเยื่อหัวหอมปิด อยู่ด้านขวามือ
รูค้ำ หรือรูนิ้วค้ำ เป็นรูสำหรับให้นิ้วหัวแม่มือปิด เพื่อบังคับเสียง และประคองเลาขลุ่ยขณะเป่า อยู่ด้านล่างเลาขลุ่ย ต่อจากรูปากนกแก้วไปทางปลายเลาขลุ่ย
รูบังคับเสียง เป็นรูที่เจาะเรียงอยู่ด้านบนของเลาขลุ่ย มีอยู่ ๗ รู ด้วยกัน
รูร้อยเชือก มี ๔ รู หรือ ๒ รูก็ได้ อยู่ทางส่วนปลายของเลาขลุ่ย โดยการเจาะทะลุบน-ล่าง และ ซ้าย-ขวา ให้เยื้องกันในแต่ละคู่เสียงขลุ่ยเกิดจากเป่าลม และใช้นิ้วมือปิดเปิดรูบังคับเสียง

.๑ ขลุ่ยหลีบ เป็นขลุ่ยขนาดเล็ก ยาวประมาณ ๓๑ ซ.ม. มีเสียงสูงแหลมเล็ก ระดับเสียงต่ำสุดสูงกว่า เสียงต่ำสุดของขลุ่ยเพียงออขึ้นมา ๓ เสียง ใช้เป่าคู่กับขลุ่ยเพียงออ หรือขลุ่ยกรวด มีอยู่สองชนิด คือ ขลุ่ยหลีบเพียงออ และขลุ่ยหลีบกรวด

.๒ ขลุ่ยเพียงออ เป็นขลุ่ยขนาดกลาง ยาวประมาณ ๔๕ - ๔๖ซ.ม. ระดับเสียงต่ำสุดคือ เสียงโด ของไทย ใช้เป็นหลักเทียบเสียง ในวงเครื่องสาย เครื่องตี ถ้าเล่นกับวงมโหรี ขลุ่ยเพียงออต้องมีระดับเสียง ได้ระดับเดียวกับลูกฆ้องวงใหญ่ ลูกที่ ๑๐ ที่เรียกว่า ลูกเพียงออ
.๓ ขลุ่ยอู้ เป็นขลุ่ยขนาดใหญ่ ยาวประมาณ ๖๐ เซนติเมตร ระดับเสียงต่ำสุด ต่ำกว่าระดับเสียงต่ำสุดของขลุ่ยเพียงออ ลงไปอีก ๒ เสียง ใช้บรรเลงในวงปีพาทย์ดึกดำบรรพ์
.๔ ขลุ่ยกรวด ขลุ่ยชนิดนี้ มีเสียงสูงกว่าขลุ่ยเพียงออ ๑ เสียง ใช้สำหรับวงเครื่องสายผสมที่นำเอาเครื่องดนตรีฝรั่ง มาเล่นผสมวง เช่น วงเครื่องสายผสมไวโอลิน วงเครื่องสายผสมออร์แกน มีขนาดเล็กกว่า ขลุ่ยเพียงออ ระดับเสียงต่ำสุดสูงกว่า ระดับเสียงของขลุ่ยเพียงอออยู่ ๑ เสียง


ขลุ่ยนก
.๕ ขลุ่ยนก เป็นขลุ่ยพิเศษ ทำขึ้นเพื่อ เสียงสัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะนก ใช้บรรเลง ประกอบในวงดนตรี เพื่อให้เกิดจินตนาการ ในการฟังเพลงได้ดียิ่งขึ้น บางครั้งยังใช้ ลิ้นปี่มาประกอบกับ ตัวขลุ่ยเพื่อเลียนเสียงไก่ ขลุ่ยพิเศษเหล่านี้นิยมใช้บรรเลง เพลงตับนก และตับภุมรินทร์


.๒ เครื่องเป่าที่มีลิ้น ได้แก่ ปี่นอก ปี่กลาง ปี่ใน ปี่อ้อ ปี่ไฉน ปี่มอญ ปี่ชวา และแคน









ปี่ เป็นเครื่องดนตรีไทย ทำด้วยไม้จริงเช่นไม้ชิงชันหรือไม้พยุง กลึงให้เป็นรูปบานหัวบานท้าย ตรงกลางป่อง เจาะภายในให้กลวงตลอดเลา ทางหัวของปี่เป็นช่องรูเล็กส่วนทาง ปลายของปี่ ปากรูใหญ่ใช้ชันหรือวัสดุอย่างอื่นมาหล่อเสริมขึ้นอีกราวข้างละ ครึ่งซม ส่วนหัวเรียก ทวนบน ส่วนท้ายเรียก ทวนล่าง ตอนกลางของปี่ เจาะรูนิ้วสำหรับเปลี่ยนเสียงลงมาจำนวน ๖ รู แต่สามารถเป่าได้เสียงตรง ๒๔ เสียง กับเสียงควงหรือเสียงแทนอีก ๘ เสียง รวมเป็น ๓๒ เสียง รูตอนบนเจาะเรียงลงมา ๔ รู เว้นระยะห่างเล็กน้อย เจาะรูล่างอีก ๒ รู ตรงกลางของเลาปี่ กลึงขวั้นเป็นเกลียวคู่ไว้เป็นจำนวน ๑๔ คู่ เพื่อความสวยงามและกันลื่นอีกด้วย ตรงทวนบนนั้นใส่ลิ้นปี่ที่ทำด้วยใบตาลซ้อนกัน ๔ ชั้น ตัดให้กลมแล้วนำไปผูกติดกับท่อลมเล็กๆที่ เรียกว่า กำพวด เรียวยาวประมาณ ๕ ซม. กำพวดนี้ทำด้วยทองเหลือง เงิน นาก หรือโลหะอย่างอื่นวิธีผูกเชือกเพื่อ ให้ใบตาลติดกับกำพวดนั้น ใช้วิธีผูกที่เรียกว่า ผูกตะกรุดเบ็ด ส่วนของกำพวดที่จะต้องสอดเข้าไปเลาปี่นั้นเขาใช้ถักหรือเคียน ด้วยเส้นด้าย สอดเข้าไปในเลาปี่ให้พอมิดที่พันด้ายจะทำให้เกิดความแน่นกระชับยิ่งขึ้น

ปี่ของไทยจัดได้เป็น ๓ ชนิด ได้แก่



ปี่นอก : มีขนาดเล็ก ยาวประมาณ ๓๑ ซม. กว้าง ๓.๕ ซม. เป็นปี่ที่ใช้กันมาแต่เดิม เสียงของปี่นอกจะมีเสียงที่เล็กแหลม

ปี่กลาง : มีขนาดกลาง ยาวประมาณ ๓๗ ซม. กว้างประมาณ ๔ ซม. สำหรับเล่นประกอบการแสดงหนังใหญ่ มีสำเนียงเสียงอยู่ระหว่าง ปี่นอก กับปี่ใน เสียงของปี่กลางจะ ไม่แหลมหรือว่าต่ำเกินไปแต่จะอยู่ในระดับปานกลาง



ปี่ใน : มีขนาดใหญ่ มีความยาวประมาณ ๔๑ – ๔๒ ซม. กว้างประมาณ ๔.๕ ซม. เป็นปี่ที่พระอภัยมณีใช้สำหรับเป่าให้นางผีเสื้อสมุทร (ในวรรณกรรมของสุนทรภู่) ขาดใจตายนั่นเอง โดยเสียงของปีในจะเป็นเสียงที่ต่ำ และเสียงใหญ่



ปี่ชวา : เป็นเครื่องเป่าชนิดหนึ่งที่มีลิ้น เป็นปี่สองท่อน รูปร่างลักษณะเหมือนปี่ไฉน แต่ย่าวกว่า ทำด้วยไม้หรืองา เข้าใจว่าไทยนำปี่ชวาเข้ามาใช้คราวเดียวกับ กลองแขก จากหลักฐานพบว่ามีการใช้ปี่ชวา ในกระบวนพยุหยาตรา ในสมัยอยุธยาตอนต้น

ปี่ไฉน : เป็นปี่สองท่อน ถอดออกจากกันได้ ท่อนบนเรียงยาว ปลายผายออกเล็กน้อยเรียกว่า เลาปี่” ท่อนล่างปลายบานเรียกว่า ลำโพง” ทำด้วยไม้หรืองา ปี่ชนิดนี้เข้าใจว่าได้แบบอย่างมาจาก เครื่องดนตรีของอินเดีย ซึ่งเป็นเครื่องเป่าที่ทำด้วยไม้ ไทยใช้ปี่ชนิดนี้มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ปัจจุบันใช้ในขบวนแห่ คู่กับปี่ชวา จ่าปีใช้เป่านำกลองชนะในกระบวนพยุหยาตรา



ปี่มอญ : เป็นเครื่องเป่าประเภทใช้ลิ้นปี่เป็นตัวสร้างความสั่นสะเทือนให้เกิดเสียง ปี่มอญมีรูปร่างคล้ายปี่ชวา แต่ยาวและใหญ่กว่า อีกวัสดุที่ใช้ทำลำโพงต่างกัน ทำให้มีเสียงทุ้มต่ำนุ่มนวลเป็นเอกลักษณ์ มีบทบาทสำคัญอยู่ในวงปี่พาทย์มอญ
ปี่มอญ มีส่วนประกอบที่สำคัญคือ

๑. เลาปี่ กลึงจากไม้เนื้อแข็งกลมมีความยาวประมาณ ๕๐ ซม. โดยตอนบนใกล้ปากผู้บรรเลงจะคอดเล็ก และผายออกเล็กน้อยในตอนปลาย ด้านบนของเลาปี่เจาะรูนิ้ว ๗ รู เช่นเดียวกับขลุ่ยเพียงออ และปี่ชวา ด้านหลังเจาะรูนิ้วค้ำ ๑ รู ตรงตำแหน่งของนิ้วโป้ง
๒. ลำโพงปี่ ทำจากโลหะ ชนิดต่างๆ เช่น เงิน ทองเหลือง นำมาตีออกเป็นแผ่นบางแล้วม้วนติดเข้ากันเป็นลักษณะของดอกลำโพง ปากลำโพงกว้างประมาณ ๑๐ ซม. ส่วนที่บานออกกว้างประมาณ ๕ ซม.
๓. ลิ้นปี่ ทำจากใบตาลแห้ง ตัดบางซ้อนกัน ๔ ชิ้น แล้วผูกติดกับแท่งโลหะเล็กๆ (เรียกว่าการผูกแบบตะกรุดเบ็ด) ซึ่งทำจาก นาค ทองเหลือง หรือเงิน เรียกว่า กำพวด แล้วจึงนำปลายด้านหนึ่งของกำพวดเสียบเข้ากับรูบริเวณทวนบนของเลาปี่ปี่มอญนั้นมีขนาดใหญ่กว่าปี่ทั่วไป กำพวดจึงยาวกว่า มีความยาวประมาณ ๘ ซม.

ปี่อ้อ : เป็นปี่โบราณของไทยอย่างหนึ่ง ตัวปี่ (เลา) ทำด้วยไม้รวกปล้องเดียว ไม่มีข้อยาวประมาณ ๒๔ เซนติเมตร เขียนลวดลายด้วย การลนไฟให้ไหม้เกรียมเฉพาะที่ต้องการหัวท้ายเลี่ยมด้วยทองเหลืองหรือเงินเพื่อป้องกันมิให้แตก เจาะรูสำหรับเปิดปิด นิ้วเรียงตาม ลำดับด้านหน้า ๗ รู และมีนี้วค้ำด้านหลัง ๑ รูเช่นเดียวกับขลุ่ย ลิ้นทำด้วยไม้อ้อลำเล็กๆ เหลาให้บางยาว ๕ เซนติเมตร ไว้ทางหนึ่งให้ กลมพันด้วยด้ายเพื่อให้กระชับพอที่จะเสียบเข้าไปในเลาปี่ ๑ เซนติเมตรพอดีกับรูของตัวปี่ อีกทางหนึ่งผ่าเจียนเป็น ๒๓ ซีก ปลายมน ตัดให้แบนเข้าแนบประกบกว้างราว ๒ เซนติเมตรนัยว่าเป็นเครื่องดนตรีที่ร่วมอยู่ในวงเครื่องสายมาก่อน ต่อมาได้ใช้ขลุ่ยเพียงออและขลุ่ยหลิบเข้าผสมแทน ปี่อ้อจึงหายไป

แคน : เป็นเครื่องเป่าหรือเครื่องดนตรีพื้นเมืองของภาคอีสานในประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นเครื่องดนตรีของชาวลาวหรือ สปป.ลาวและถือเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติของชนชาติลาวอีกด้วย โดยเครื่องดนตรีชนิดนี้จะใช้ไม้ซางขนาดต่าง ๆ ประกอบกันเข้าเป็นตัวแคน แคนเป็นเครื่องเป่ามีลิ้นโลหะ เสียงเกิดจากลมผ่านลิ้นโลหะไปตามลำไม้ที่เป็นลูกแคน การเป่าแคนต้องใช้ทั้งเป่าลมเข้าและดูดลมออกด้วย จึงเป่ายากพอสมควรและแคนมีหลายขนาด ถือเป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งที่ให้เสียงไพเราะ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว สร้างเสียงประสานได้ในตัวเอง บ่งบอกถึงวิถีชีวิตของชาวลุ่มแม่น้ำโขงได้เป็นอย่างดี
ใครเป็นผู้คิดประดิษฐ์เครื่องดนตรีที่เรียกว่า "แคน" เป็น คนแรก และทำไมจึงเรียกว่า "แคน" นั้น ยังไม่มีหลักฐานที่แน่นอนยืนยันได้

ประเภทของแคน
แคนมีหลายประเภทตามจำนวนลูกแคน คือ
๑. แคนหก มีลูกแคน ๓ คู่ (๖ ลูก) เป็นแคนขนาดเล็กที่สุด สำหรับเด็กหรือผู้เริ่มฝึกหัดใช้เป่าเพลงง่าย ๆ เพราะเสียงไม่ครบ บางทีก็จะทำเป็นของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยว
๒. แคนเจ็ด มีลูกแคน ๗ คู่ (๑๔ ลูก) เป็นแคนขนาดกลาง มีเสียงครบ ๗ เสียง ตามระบบสากล และมีระดับเสียงสูง ต่ำ ทั้ง ๗ เสียง หรือที่เรียกว่า คู่แปด คือ โด เร มี ฟา ซอล ลา ที (คู่แปด คือทุกเสียงเช่นเสียงโด ก็จะมีทั้งเสียงโดสูง และโดต่ำ ทุกเสียงมีคู่เสียงทั้งหมด) แคน ๗ ไม่มีเสียงเสพที่เป็นเสียง ซอลสูง ด้านแพซ้าย และไม่มีเสียงเสพที่เป็นเสียง ลาสูง ทางด้านแพขวา
๓. แคนแปด ใหญ่กว่าแคนเจ็ด มีลูกแคน ๘ คู่ (๑๖ ลูก) คือ โด เร มี ฟา ซอล ลา ที โด เพิ่มคู่เสียงระดับสูงขึ้นไปให้เป็นเสียงประสานในการเล่นเพลงพื้นเมือง ได้แก่ เสียง ซอลสูง ด้านแพซ้าย และเสียงเสพที่เป็นเสียง ลาสูง ทางด้านแพขวา
๔. แคนเก้า มีลูกแคน ๙ คู่ (๑๘ ลูก) ใหญ่ที่สุด มีเสียงต่ำที่สุด เวลาเป่าต้องใช้ลมมาก มีจำนวนคู่เสียงครบเช่นเดียวกับแคนแปด แต่ที่เพิ่มขึ้นมาอีกก็คือเพิ่มเสียงเสพประสานด้านแพซ้ายที่เป็นเสียงซอลสูงอีกหนึ่งเสียง และเพิ่มเสียงเสพประสานที่แพขวาซึ่งเป็นเสียงลาสูงอีกหนึ่งเสียง สรุปแล้วจึงมีลูกแคนทั้งหมด ๙ คู่ และที่สำคัญคือเป็นแคนเสียงต่ำที่ใช้เป่าให้เป็นเสียงเบสในการเป่าแบบแคนวง แต่ในปัจจุบันวงดนตรีพื้นเมืองนิยมใช้พิณเบสหรือเบสของดนตรีสากล แคน ๙ จึงไม่เป็นนิยมอีก จึงทำให้เยาวชนรุ่นหลังไม่มีโอกาสได้เห็นได้ยินการบรรเลงของแคน ๙ อีกเลย
๕. แคนสิบ เป็นแคนที่ปรับปรุงมาจากแคนแปด โดยผู้ประดิษฐ์และออกแบบ ชื่อ สำเร็จ คำโมง แต่ในระยะหลังไม่เป็นที่นิยมมากนักจึงไม่มีผู้สืบทอดผลงานนี้ไว้



เครื่องดนตรีอื่นๆ ที่นำมาใช้ในวงดนตรีไทย



ระนาดแก้ว : เป็นเครื่องดนตรีที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน มีหลักฐานปรากฏอยู่ในตำนานเรื่องมโหรีปี่พาทย์ของสมเด็จฯกรม พระยาดำรงเดชานุภาพ มีความตอนหนึ่งว่า
เมื่อสมัยรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์นี้ ได้เพิ่มเครื่องมโหรีขึ้นแต่ทำขนาดย่อมลง ให้สมกับผู้หญิงเล่น เติมระนาดไม้ กับ ระนาดแก้ว อีกสองอย่าง มโหรีวงหนึ่งเป็น ๘ คน มาในสมัยรัชกาลที่ ๒ เลิกระนาดแก้วเสีย ใช้ฆ้องวงแทน
ตัวรางของระนาดแก้วทำจากไม้เนื้อแข็งประกอบกันเป็นกล่องทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายในกลวงขึงเชือกที่ร้อยแผ่นแก้วกระจกใสหล่อขึ้นรูป จำนวน ๑๖ -๑๗ ลูก โดยเรียงจากลูกใหญ่ที่สุดทางซ้ายมือที่มีเสียงต่ำลดหลั่นกันไปทางด้านขวามือที่มีเสียงสูงเช่นเดียวกับระนาดไม้
ไม้ตีระนาดแก้ว ทำจากก้านไม้ไผ่แก่จัด เหลาให้ตอนปลายงองุ้มลงเล็กน้อย บริเวณหัวไม้ใช้ไม้ที่มีคุณสมบัติที่เบาเช่นไม้ก๊อกติดไว้เพื่อใช้ตีลงบนแผ่นกระจก ปัจจุบันสามารถหาชมระนาดแก้วได้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ขิม : พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้คำอธิบายไว้ว่า "เครื่องดนตรีจีนชนิดหนึ่ง รูปคล้ายพระจันทร์ครึ่งซีกใช้ตี" ขิมถูกนำเข้ามาในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยชาวจีนนำมาบรรเลงรวมอยู่ในวงเครื่องสายจีน และประกอบการแสดงงิ้วบ้าง บรรเลงในงานเทศกาล และงานรื่นเริงต่างๆบ้าง
คำว่า ขิม มาจากภาษาจีนฮกเกี้ยน ซึ่งมาจากอักษรจีน 琴 ซึ่งในภาษาจีนกลางอ่านว่า ฉิน
นักดนตรีไทยนำขิมมาบรรเลงในสมัยต้นรัชกาลที่ 6 โดยแก้ไขบางอย่าง คือเปลี่ยนสายลวดทองเหลืองให้มีขนาดโตขึ้น เทียบเสียงเรียงลำดับ ไปตลอดจน ถึงสายต่ำสุด เสียงคู่แปดมือซ้ายกับมือขวามีระดับเกือบตรงกัน เปลี่ยนไม้ตีให้ใหญ่และก้านแข็งขิ้น หย่องที่หนุนสาย มีความหนา กว่าของเดิมเพื่อให้เกิดความสมดุล และมีความประสงค์ให้เสียงดังมากขึ้น และไม่ให้เสียงที่ออกมาแกร่งกร้าวเกินไปให้ทาบสักหลาดหรือหนังตรงปลายไม้ตี ส่วนที่กระทบกับสาย ทำให้เสียงเกิดความนุ่มนวล และได้รับความนิยม บรรเลงร่วมอยู่ในวงเครื่องสายผสมจนถึงปัจจุบัน
เพลงที่นิยมบรรเลงกันมากคือ เพลงขิมเล็ก และเพลงขิมใหญ่ ซึ่งเป็นเพลงสำเนียงจีนที่เกิดขึ้นในราวปลายรัชสมัยรัชกาลที่ โดยพระประดิษฐ์ไพเราะ ได้จำทำนองการตีขิมของคนจีนแล้วมาแต่งเป็นเพลงในอัตรา ชั้นได้ เพลง ตั้งชื่อว่า เพลงขิมเล็ก และเพลงขิมใหญ่ สำหรับเพลงขิมเล็ก พระประดิษฐ์ไพเราะได้แต่งขยายเป็นอัตรา ชั้น ส่วนเพลงขิมใหญ่ ครูช้อย สุนทรวาทิน ได้แต่งขึ้นเป็น อัตรา ชั้น เช่นกัน และทั้ง เพลงนี้ ครูมนตรี ตราโมทได้แต่งตัดลงเป็นอัตราชั้นเดียว จนครบเป็นเพลงเถา เมื่อประมาณปี พุทธศักราช 2478 และได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบันนี้


สังข์ (หอยสังข์) นั้น ประชาชนชาวไทย ต่างก็มีความนับถือกันว่า เป็นของที่เป็นอุดมมงคลอย่างสูงยิ่ง ซึ่งมักพบเห็นได้ในงานพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีราชาภิเษก คือ ตอนที่พระมหาราชครูผู้เป็นประธานคณะพราหมณ์ได้ถวายน้ำมหาสังข์แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ องค์ปัจจุบัน
และในงานพิธีมงคลต่างๆ ซึ่งจัดขึ้นในบ้านเรือนของประชาชนชาวไทยเรา เช่น งานมงคลสมรส เป็นต้น เราก็มักจะได้พบหอยสังข์ ซึ่งใช้เป็นที่รดน้ำแก่คู่บ่าวสาว เพื่อจะให้อยู่เย็นเป็นสุข หอยสังข์นั้นนอกจากจะใช้เป็นเครื่องรดน้ำ เพื่อให้มีความสุขความเจริญแล้ว ยังใช้เป่าเพื่อให้ได้ยินเสียง เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลอีกด้วย ซึ่งมักจะได้พบเห็นอยู่ในงานพิธีกรรมต่าง ๆ มีงานวางศิลาฤกษ์แล้วก็จะมีการเป่าสังข์ไกวบัณเฑาะว์
ประวัติและความเป็นมาของหอยสังข์ ซึ่งนิยมนับถือว่าเป็นอุดมมงคลอย่างสูงนั้น มีเรื่องเล่าเป็นปรัมปราต่อ ๆ กันมาว่า ภายหลังจากพระพรหมที่ได้สร้างโลก ร่วมกับพระเป็นเจ้าองค์อื่น ๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ได้รับความเหน็ดเหนื่อยเป็นอย่างยิ่ง จึงได้บรรทมหลับไป ในขณะที่พระพรหมบรรทมหลับอยู่นั้น พระเวทต่าง ๆ ได้หลั่งไหลออกมาจากโอษฐ์ของพระพรหมนั้น ในขณะนั้นได้มียักษ์ตนหนึ่งมีชื่อว่า หัยครีพ ได้ผ่านมาพบเห็นเข้า จึงได้ขโมยเอาพระเวทนั้นไปจนหมด เมื่อเรื่องนี้ได้ทราบถึงพระนารายณ์เข้า จึงได้ติดตามหัยครีพนั้นไป เพื่อจะนำเอาพระเวทนั้นกลับคืนมา เมื่อหัยครีพเห็นเป็นการจวนตัว จึงได้กลืนพระเวทต่าง ๆ นั้น เข้าไว้เสียในท้องของตน พระนารายณ์จึงได้ฆ่าหัยครีพนั้น แล้วผ่าท้องเอาพระเวทนั้นกลับคืนมาจนได้
อีกเรื่องหนึ่งมีใจความเป็นตำนานมาว่า ยักษ์ตนหนึ่งมีชื่อว่า สังข์อสูร เมื่อได้พบพระพรหม ซึ่งกำลังบรรทมหลับอยู่ และได้มีพระเวทต่าง ๆ ไหลออกมาจากพระโอษฐ์ของพระพรหมดังนั้น ก็ให้เกิดมีความอิจฉาขึ้นจึงได้ขโมยเอาพระเวทต่าง ๆ นั้นไปเสีย เพื่อจะไม่ให้พวกพราหมณ์ได้มีพระเวทเป็นเครื่องสวดอ้อนวอนพระพรหมและเทพเจ้าองค์อื่น ๆ ได้อีกต่อไป แต่ในขณะเดียวกันนั้นเอง พระนารายณ์ผู้เป็นเจ้า ได้ทอดพระเนตรเห็นการกระทำของยักษ์สังข์อสูรนั้นทุกประการ จึงได้ติดตามไปเพื่อจะเอาพระเวทนั้นกลับคืนมาเสีย เมื่อยักษ์สังข์อสูรนั้นเห็นพระนารายณ์ติดตามตนมาในระยะที่กระชั้นชิดเช่นนั้น ก็เห็นว่าเป็นการจวนตัว จึงได้กลืนพระเวททั้งหมดนั้นลงไปไว้ในท้องของตนเสีย แล้วก็กระโดดลงไปในน้ำมหาสมุทร ดำน้ำหายไปในทันที เมื่อพระนารายณ์ทรงทราบดังนั้น จึงได้เนรมิตร่างของพระองค์ให้เป็นปลาใหญ่เที่ยวค้นหาตัวยักษ์สังข์อสูร เพื่อจะจับตัวไว้ให้ได้ ก่อนที่ยักษ์สังข์อสูรนั้นจะทำลายพระเวทต่าง ๆ ให้หมดไปจากโลก แต่ในที่สุด พระนารายณ์ก็ทรงจับตัวยักษ์สังข์อสูรเอาไว้ได้ แล้วจึงทวงถามเอาพระเวทคืน แต่ยักษ์สังข์อสูรนั้นไม่ได้มีการเจรจาโต้ตอบแต่ประการใด ได้แต่นิ่งเฉยอยู่เท่านั้น เมื่อพระนารายณ์ผู้เป็นเจ้าพิจารณาดูไปก็ได้ทราบว่ายักษ์สังข์อสูรได้กลืนเอาพระเวทเข้าไว้ในท้องของตน จึงได้เอาพระหัตถ์บีบที่ปากของยักษ์สังข์อสูร จนเนื้อที่ปากนั้นปริออกมาตามระหว่างนิ้วพระองค์ แต่เมื่อทรงเห็นว่ายักษ์สังข์อสูรนั้นยังไม่ยอมคืนพระเวทอีก จึงได้ทรงเอานิ้วพระหัตถ์ล้วงเข้าไปในท้องของสังข์อสูรนั้น แล้วทรงค้นหาพระเวทซึ่งอยู่ในท้องของสังข์อสูรนั้น ในที่สุดก็ได้พบพระเวทนั้น จึงได้เอานิ้วพระหัตถ์จับพระเวทนั้น ดึงลากออกมาทางปากของยักษ์สังข์อสูร เมื่อทรงเอาพระเวทกลับคืนออกมาจากท้องของยักษ์สังข์อสูร ได้จนหมดเรียบร้อยทุกพระคัมภีร์แล้ว พระนารายณ์ผู้เป็นเจ้าจึงได้ทรงสาปยักษ์สังข์อสูรนั้นว่า ขอให้เจ้าจงมีสภาพร่างกายเป็นอย่างนี้ และจงอยู่แต่ในน้ำสืบไป อย่าได้ขึ้นมาบนบกอีกต่อไปเลยเมื่อชาวมนุษย์จะทำการมงคลใด ๆ จึงค่อยมาจับเอาตัวเอ็งไปร่วมในงานพิธีมงคลนั้น ๆ ด้วย” เมื่อทรงสาปแล้ว จึงได้ทิ้งร่างของยักษ์สังข์อสูรนั้นลงไปในมหาสมุทรทันที แล้วจึงได้เอาพระเวทนั้นมาส่งคืนให้แก่พระพรหม ผู้เป็นเจ้าของเดิมทันที เมื่อยักษ์สังข์อสูรนั้นอยู่ในน้ำมหาสมุทรนั้นนาน ๆ เข้าจึงได้กลับกลายมาเป็นหอยสังข์ และมีสภาพเหมือนกับคำที่พระนารายณ์ท่านได้สาปไว้ทุกประการ และได้เที่ยวเร่ร่อนไปในทะเลลึก เมื่อถึงเวลาจะทำพิธีมงคลต่าง ๆ พวกพราหมณ์จึงได้ไปจับเอาตัวไปเข้าอยู่ในพิธีมงคลนั้น ๆ เหตุผลที่พวกพราหมณ์ผู้ทำพิธีต่าง ๆ จะนำหอยสังข์นั้นมาเข้าร่วมอยู่ในงานพิธีมงคลต่าง ๆ นั้น ก็เพราะ พราหมณ์มีความเห็นว่า
๑. หอยสังข์นั้นเคยเป็นที่บรรจุพระเวทต่าง ๆ ไว้ในท้องของตนจนครบทุกประการ
๒. ตามบริเวณร่างกายของหอยสังข์นั้น ได้มีรอยนิ้วพระหัตถ์ของพระนารายณ์ผู้เป็นเจ้า
ยังปรากฏอยู่ในขณะที่พระองค์ทรงบีบปากเพื่อค้นหาคัมภีร์พระเวทเมื่อครั้งแรกนั้น ที่ปากของหอยสังข์นั้นจึงเป็นรอยยาวออกมานั้น ก็เพราะพระนารายณ์ท่านลากคัมภีร์พระเวทต่าง ๆ ออกมาทางปากนั้น
ด้วยเหตุดังที่ได้กล่าวแล้วทั้งหมดนี้เอง จึงได้นับถือว่าหอยสังข์นั้นเป็นของที่สูงและศักดิ์สิทธิ์ จึงได้นำเข้ามาร่วมในพิธีมงคลต่าง ๆ ตลอดมา

แตรงอน : เข้าใจว่าได้แบบอย่างจากอินเดีย เนื่องจากอินเดียมีแตรรูปแบบเดียวกันนี้ใช้อยู่ และมีชื่อซึ่งแปลความหมายว่าเขาสัตว์ ซึ่งเดิมคงทำจากเขาสัตว์ แตรงอนของไทยที่ใช้ในงานพระราชพิธีของไทย ทำด้วยโลหะชุบเงิน ทำเป็นสองท่อนสวมต่อกัน ท่อนแรกเป็นหลอดโค้งเรียวยาว สำหรับเป่าลมปากตรงที่เป่าทำให้บานรับกับริมฝีปาก เรียกว่า กำพวด” ท่อนปลายเป็นลำโพง มีเส้นเชือกริบบิ้นผูกโยง ท่อนเป่ากับท่อนลำโพงไว้ด้วยกัน
แตรงอน เป็นหนึ่งในเครื่องเป่าที่ราชสำนักสยามใช้ในงานพระราชพิธี ประกอบพระราชอิสริยยศ และเฉลิมพระเกียรติมาแต่โบราณ มักเล่นร่วมกับแตรฝรั่ง และสังข์ เรียกว่า วงแตรสังข์ บางครั้งเล่นร่วมกับวงปี่ไฉนกลองชนะ  เช่น ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เมื่อ 19 พฤศจิกายน 2551 ชาวพนักงานประโคมกลองชนะ แตรฝรั่ง แตรงอน และสังข์
ในอินเดียมีเครื่องเป่าโลหะทรงโค้งคล้ายกันนี้เรียกว่า Kommu (ใน Tamil, Kannada, Telugu) หรือ Kombu ในภาษาดราวิเดียน ที่มีความหมายถึง เขาสัตว์ ซึ่งรูปทรงและชื่อเลียนแบบจากแตรเขาสัตว์ เครื่องเป่าแบบดั้งเดิมที่พบมากในเอเชีย รวมทั้งในอุษาคเนย์
จิตรกรรมฝาผนัง วัดช่องนนทรี กรุงเทพฯ เขียนขึ้นราวสมัยอยุธยาตอนปลาย มีรูปชาวพนักงานดนตรีแต่งกายคล้ายชาวเปอร์เซีย (อิหร่าน) หรืออาจหมายถึงกลุ่มมุสลิมอินโด-อิหร่าน  เป่าเครื่องดนตรีแบบแตรงอน ร่วมกับเครื่องประโคมอื่นๆ เพราะยังไม่พบว่าดนตรีอิหร่านมีเครื่องเป่าแบบแตรงอนใช้มาแต่เดิม แต่หากเป็นชาวอินโด-อิหร่าน ที่ได้รับการผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่างอินเดียและอิหร่านแล้วก็อาจเป็นได้ว่าชาวต่างชาติกลุ่มนี้ที่เข้ามารับราชการอยู่ในราชสำนักอยุธยา จะได้นำเครื่องดนตรีชนิดมาเผยแพร่ด้วยก็ได้
ธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร เคยให้คำอธิบายเรื่องแตรงอนไว้ว่า
แตรงอน คงเรียกตามรูปร่างลักษณะที่แตรโค้งงอนบานปลาย แตรงอนนี้เข้าใจว่าเราได้แบบอย่างมาจากอินเดีย เพราะอินเดียมีแตรรูปนี้ใช้สำหรับเป่าเป็นสัญญาณในกระบวนแห่และในงานพระราชพิธี อินเดียตอนเหนือเรียกแตรชนิดนี้ตามภาษาสันสกฤตว่า ศฤงคะ” ส่วนในตอนใต้เรียกตามภาษาทมิฬว่า กัมพู” คำทั้ง 2 นี้แปลได้ว่า เขาสัตว์” ซึ่งแต่ก่อนคงจะทำด้วยเขาสัตว์ ต่อมาศฤงคะ หรือกัมพุ ของอินเดีย บางทีทำด้วยโลหะ มีลักษณะเป็นรูปโค้งงอนยาวราว 180 ซม. ถึง 201 ซม. แต่แตรงอนที่ใช้อยู่ในพระราชพิธีของเรา เขาทำด้วยโลหะชุบเงิน และทำเป็น 2 ท่อน สวมต่อกัน ท่อนเป่าหลอดเป่าลมโค้งเรียวเล็ก ยาวประมาณ 22 ซม. ปากตรงที่เป่าทำบานรับริมฝีปาก วัดผ่านศูนย์กลางราว 3 ซม. ท่อนลำโพงยาวประมาณ 28 ซม. ปากกว้างราว 7 ซม. มีเส้นเชือกหรือริบบิ้นผูกโยงท่อนเป่ากับท่อนลำโพงไว้ด้วยกัน
ในหนังสือสมุทรโฆษคำฉันท์ เรียกแตรงอนว่า กาหล” และใช้ประโคมในกระบวนรบ และในหนังสือปุณโณวาทคำฉันท์ ก็เรียกว่า กาหฬ” ใช้บรรเลงในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค


แตรงอน ใช้ร่วมกับสังข์ในงานพระราชพิธีเกียรติยศ เช่น พระมหากษัตริย์เสด็จออกรับทูตานุทูตเป็นทางราชการ ในงานเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค และสถลมารค และในกระบวนแห่อย่างอื่น ในการนี้จะต้องเป่าแตรสังข์เป็นเครื่องประโคมสำหรับพระราชอิสริยยศด้วย… (เครื่องดนตรีไทย โดย ธนิต อยู่โพธิ์ กรมศิลปากรจัดพิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ. 2510)


           แตรฝรั่ง : มีลักษณะปากบานคล้ายดอกลำโพง ในหนังสือ กฎมณเฑียรบาล โบราณเรียกแตรชนิดหนึ่งว่า "แตรลางโพง" และในหมายรับสั่งครั้งรัชกาลที่ เรียกว่า "แตรวิลันดา" คงจะเป็นแตรที่ชาวฮอลันดานำเข้ามาเมืองไทยเป็นครั้งแรก เข้าใจว่าคงเป็นแตรชนิดเดียวกันนี้ และเหตุที่เรียกเครื่องดนตรีนี้ว่า "แตร" นั้นคงจะเรียกตามเสียงที่ได้ยิน แตรฝรั่งใช้เป่าร่วมกับแตรงอน และสังข์ ในงานพระราชพิธีเช่นกัน


ประเภทของวงดนตรีไทย
ทุกวัฒนธรรม ทุกศาสนา ล้วนมีดนตรีเข้ามาเกี่ยวข้องและบทบาทหน้าที่พุทธศาสนิกชนชาวไทย ใช้ดนตรีเป็นเครื่องกลอมเกลาจิตใจ เฉลิมฉลอง แสดงความยินดีตลอดจนเป็นการสร้างบรรยากาศ ความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ในงานพิธีต่างๆ

วงดนตรีที่ใช้ในศาสนพิธีโดยตรง
วงดนตรีทีใช้ในศาสนพิธีโดยตรง คือ “วงปี่พาทย์ไม้แข็ง” ส่วนดนตรีที่มิได้บรรเลงในพิธีกรรมโดยตรงมักใช้ดนตรีชนิดอื่นซึ่งเป็นไปตามลักษณะของงาน เช่น วงปี่พาทยม้นวมใช้บรรเลง
ประกอบการแสดงวงมโหรี วงเครื่องสาย แตรวง และวงกลองยาวใช้บรรเลงเพื่อความบันเทิง
วงปี่พาทย์ แบ่งออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ ปี่พาทย์ไม้แข็ง และปี่พาทย์ไม้นวม มีเครื่องดนตรีหลัก ๔ ชนิด คือ ระนาดเอก ฆ้องวง ปี่ และเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ

ลักษณะของวงปี่พาทย์

๑. วงปี่พาทย์เครื่องห้า ประกอบด้วยเครื่องดนตรีดังนี้
ระนาดเอก
ฆ้องวงใหญ่
ปี่
ตะโพน
กลองทัด
                                ฉิ่ง

. วงปี่พาทย์เครื่องคู่ ประกอบด้วยเครื่องดนตรีดังนี้
                                 ระนาดเอก
ระนาดทุ้ม
ฆ้องวงใหญ่
ฆ้องวงเล็ก
ปี่ใน
ปี่นอก
ตะโพน
กลองทัด
ฉิ่ง ฉาบ กรับโหม่ง และเครื่องประกอบจังหวะอื่นๆ นำมาประสมได้ตามความต้องการ

๓. วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ เป็นวงปี่พาทย์ที่เกิดขึ้นหลังจากมีผู้คิดสร้างระนาดเอกเหล็กและระนาดทุ้มเหล็กขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ ประกอบด้วยเครื่องดนตรีดังนี้
                                 ระนาดเอก
ระนาดเอกเหล็ก
ระนาดทุ้ม
ระนาดทุ้มเหล็ก
ฆ้องวงใหญ่
ฆ้องวงเล็ก
ปี่ใน
ตะโพน
กลองทัด
ฉิ่ง ฉาบเล็ก ฉาบใหญ่ โหม่งราว และเครื่องประกอบจังหวะอื่นๆ เท่าที่จำเป็น


วงดนตรีที่ใช้ประกอบพิธีกรรมประเภทงานอวมงคล งานอวมงคล คือ งานที่ไม่เป็นมงคล
หมายถึง งานที่เกี่ยวกับงานศพในการทำศพต้องมีการทำบุญเช่นกัน
                วงดนตรีที่ใช้ในงานอวมงคล


                วงปี่พาทย์นางหงส์ เป็นวงปี่พาทย์ใช้เฉพาะงานศพเท่านั้น เครื่องดนตรีวงปี่พาทย์
                      ระนาดเอก
ระนาดทุ้ม
                      ฆ้องวงใหญ่
ฆ้องวงเล็ก
ปี่ชวา
กลองมาลายู
ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง และเครื่องประกอบจังหวะอื่นๆ
ใช้เครื่องดนตรีเหมือนกับวงปี่พาทย์ไม้แข็งทุกอย่างนอกจาก ใช้ ปี่ชวา แทน ปี่ใน ใช้กลองมลายู ๑ คู่ แทน ตะโพนและกลองทัด วงปี่พาทย์นางหงส์นี้ใช้บรรเลงเฉพาะในงานศพเท่านั้น

๒. วงบัวลอย ประกอบด้วยเครื่องดนตรีดังนี้
                      ปี่ชวา
                      กลองมลายู
                      ฆ้องโหม่ง

                การใช้วงบัวลอยประโคมศพโดยเฉพาะในช่วงการประชุมเพลิง บ้างเรียกว่า ตีบัวลอย ปัจจุบันนี้ไม่ค่อยมีให้พบเห็น อาจเพราะฟังวังเวงมากไป โดยเฉพาะยามค่ำคืน วังเวงจนเกือบจะน่ากลัว อีกเหตุผล อาจจะเพราะเป็นวงโบราณมากๆ ทำให้บรรเลงแล้วฟังไม่ไพเราะด้วย ทำให้เดี๋ยวนี้นิยมหันไปใช้วงปี่พาทย์มอญกันเป็นส่วนใหญ่ และเหตุที่หันมานิยมวงปี่พาทย์มอญ อาจเพราะว่า ครั้งหนึ่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยยกย่องว่า "งานศพใด ที่มีวงปี่พาทย์มอญบรรเลง ถือว่าเป็นศพผู้ดี

๓. วงปี่พาทย์มอญ เป็นวงดนตรีแบบหนึ่งของไทยที่จัดตามแบบมอญ ประกอบด้วยเครื่องดนตรีในวงปี่พาทย์มอญดังนี้
ฆ้องมอญวงเล็ก
ระนาดเอก
ระนาดทุ้ม
ปี่มอญ
ตะโพนมอญ
เปิงมางคอก
ฉาบ ใหญ่
ฉิ่ง


กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้

ให้นักเรียนเขียนรายงานเกี่ยวกับประเภทของเครื่องดนตรีไทยว่ามีการเกิดเสียงได้อย่างไร
ให้นักเรียนจำแนกประเภทของเครื่องดนตรีที่ใช้ตีโดยละเอียด
















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประวัติความเป็นมาของดนตรีไทยจากวัฒนธรรมไทย

ประวัติความเป็นมาของดนตรีไทยจากวัฒนธรรมต่างๆ   ดนตรีไทยมีมาแต่สมัยสุโขทัย และพัฒนาสืบเนื่องต่อมาจนปัจจุบันทั้งเครื่องดนตรีรูปแบบก...