วันอังคารที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

องค์ประกอบของดนตรีสากล

องค์ประกอบของดนตรีสากล

บทเพลงต่างๆ เกิดขึ้นได้ ต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญทางดนตรีที่รวมกันอยู่ในบทเพลงนั้นๆโดยทั่วไปองค์ประกอบพื้นฐานทางดนตรี ได้แก่ เสียง (Tone) จังหวะ (Rhythm) ทำนอง (Melody) เสียงประสาน (Harmony) รูปพรรณ (Texture) รูปแบบ (Form) สีสันของเสียง (Tone Color) ซึ่งจะมีการผสมผสานสอดคล้องกันทำให้เกิดความไพเราะในบทเพลง

สาระการเรียนรู้
องค์ประกอบของดนตรีสากล

กิจกรรมฝึกทักษะที่ควรเพิ่มให้นักเรียน
๑. อธิบายองค์ประกอบของดนตรีสากล
๒. จำแนกองค์ประกอบของดนตรีได้
๓. แสดงความคิดเห็นที่มีต่ออารมณ์ของบทเพลง
๔. ระบุองค์ประกอบดนตรีในแต่ละวัฒนธรรม

องค์ประกอบของดนตรีสากล
องค์ประกอบของดนตรี คือ ส่วนสำคัญพื้นฐานทางดนตรีซึ่งรวมกันทำให้เกิดดนตรีหรือบทเพลงต่างๆเป็นรูปร่างขึ้นมาได้ โดยประกอบด้วยองค์ประกอบต่างๆ ดังนี้
๑. เสียง (Tone)
๒. จังหวะ (Rhythm)
๓. ทำนอง (Melody)
๔. เสียงประสาน (Harmony)
๕. รูปพรรณหรือพื้นผิว (Texture)
๖. รูปแบบ (Form)
๗. สีสันของเสียง (Tone Color)

๑. เสียง (Tone)
เสียง ในทางดนตรี หมายถึง เสียงที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของอากาศอย่างสม่ำเสมอ โดยจะเกิดจากการร้อง การเป่า การดีด และการสี เสียงจะประกอบด้วยคุณสมบัติเสียง ๔ อย่าง คือ ระดับเสียงความยาวของเสียง ความเข้มของเสียงและคุณภาพของเสียง
๑.๑ ระดับเสียง (Pitch) คือ ความสูงต่ำของเสียง ซึ่งเกิดจากความถี่ในการสั่นสะเทือน ถ้าความถี่ของการสั่นสะเทือนเร็วเสียงจะสูง ความถี่ของการสั่นสะเทือนช้าเสียงจะต่ำ
๑.๒ ความยาวของเสียง (Duration) คือ ความยาวสั้นของเสียง เสียงดนตรีอาจมีควานยาวเสียงเช่น เสียงสั้นๆ เสียงยาวมาก ซึ่งเป็นพื้นฐานในเรื่องของจังหวะ (Rhythm)
๑.๓ ความเข้มของเสียง (Intensity) คือ ความแตกต่างของเสียงจากค่อยไปจนถึงดัง ซึ่งเป็นพื้นฐานเรื่องจังหวะเน้นในทางดนตรี
๑.๔ คุณภาพของเสียง (Quality) คือ คุณภาพของเสียงแต่ละชนิด เกิดจากการสั่นสะเทือนของวัตถุที่ทำให้เกิดเสียงนั้นๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานเรื่องสีสันของเสียง (Tone Color)

๒. จังหวะ (Rhythm)
                จังหวะ คือ สัญลักษณ์ที่บอกความยาว สั้น (Duration) ของตัวโน้ตและตัวหยุด โดยไม่มีระดับเสียง ในบทเพลงจะมีองค์ประกอบจังหวะ ดังนี้

๒.๑ ความเร็วของจังหวะ (Tempo) เทมโป มาจากภาษาอิตาเลียน หมายถึง เวลา ในทางดนตรี หมายถึง ความเร็ว ช้า ปานกลาง ซึ่งถูกกำหนดไว้ในบทเพลง โดยมีเครื่องกำหนดความเร็วที่เรียกว่าเมโทรนอม (Metronome) และมีชื่อเรียกกำหนดความเร็วจังหวะ ได้แก่
Presto                     เร็วมาก
Allegro                   เร็ว
Moderato                ความเร็วปานกลาง
Adagio                    ช้าๆ ไม่รีบร้อน
Largo                      ช้ามาก

๒.๒ อัตราจังหวะ (Time) คือ การจัดกลุ่มจังหวะตบ (Beat) เป็น ๒, , ๔ จังหวะเคาะเน้นจังหวะหนัก เบา ของจังหวะตบที่เกิดขึ้น

จังหวะตบ (Beat) หมายถึง จังหวะที่ดำเนินไปเรื่อยๆ คล้ายการเต้นของหัวใจตัวอย่างอัตราเช่น


๒.๓ รูปแบบจังหวะ(
Rhythm Pattern) คือรูปแบบกระสวนจังหวะของจังหวัดที่ถูกกำหนดไว้เพื่อเป็นจังหวะในการบรรเลงบทเพลง เช่น จังหวะมาร์ช (March) จังหวะวอลซ์ (Waltz) จังหวะร็อค (Rock) เป็นต้น

๓. ทำนอง (Melody)
ทำนอง คือ การจัดเรียงลำดับสูง ต่ำ และความยาว สั้น ของเสียงตามแนวนอน ทำนองเป็นองค์ประกอบดนตรีที่ง่ายต่อการจำเหมือนภาษาพูดที่เป็นประโยค เพื่อสนองความคิดของผู้พูดดังนั้นการเข้าใจดนตรีจึงต้องจำทำนองให้ได้

๔. เสียงประสาน (Harmony)
เสียงประสาน คือ การผสมผสานเสียงตั้งแต่ ๒ เสียงขึ้นไป โดยบรรเลงพร้อมกันการประสานเสียงมีทั้งให้ความกลมกลืนไพเราะ และไม่กลมกลืน การนำเสียง ๒ เสียงมาบรรเลงพร้อมกันจะเรียกว่า ขั้นคู่เสียง (Interval) ถ้านำเสียง ๓ เสียงขึ้นไปมาบรรเลงพร้อมกันจะเรียกว่า คอร์ด (Chord)

๕. รูปพรรณหรือพื้นผิว (Texture)
รูปพรรณ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างทำนองกับเสียงประสาน ซึ่งทำให้เกิดเป็นภาพรวมของดนตรี รูปพรรณดนตรีมีหลายแบบ คือ
๕.๑ แบบโมโนโฟนี (Monophony) คือ ดนตรีแนวทำนองแนวเดียว ไม่มีเสียงประสานหรือองค์ประกอบใด
๕.๒ แบบโฮโมโฟนี (Homophony) คือ ดนตรีที่มีแนวทำนองหลักเป็นแนวที่สำคัญที่สุดในขณะที่แนวอื่นๆ เป็นเพียงแนวประสานเสียงด้วยคอร์ดเข้ามาช่วยให้ทำนองหลักไพเราะขึ้น เช่นเพลงไทยสากล เพลงพื้นบ้าน (Folk Song) เป็นต้น
๕.๓ แบบโพลิโฟนี (Polyphony) คือ ดนตรีที่ใช้แนวทำนองหลายแนวเพื่อมาประสานกับทำนองหลัก ทำนองหลักจะเป็นแนวที่สำคัญ แต่แนวอื่นๆ ก็เป็นทำนองรองและเป็นแนวประสานเมื่อเล่นจะพบว่าแต่ละแนวเป็นทำนองด้วยเช่นกัน

๖. รูปแบบ (Form)
รูปแบบ คือ โครงสร้างของบทเพลงที่มีแบบแผน ซึ่งผู้ประพันธ์เพลงมักจะมีรูปแบบการแต่งเพลงตามที่ตนเองคิดไว้ เช่น การแบ่งเป็นห้องเพลง เป็นวลี (Phrase) เป็นประโยค (Sentence) และเป็นท่อนเพลง รูปแบบของบทเพลงในปัจจุบัน ได้แก่
๖.๑ ยูนิทารี (Unitary Form) หรือ One Part Form คือ บทเพลงที่มีแนวทำนองสำคัญเพียงทำนองเดียวตั้งแต่เริ่มต้นจนจบสมบูรณ์ เช่น เพลงสรรเสริญพระบารมี เพลงชาติ เป็นต้น
๖.๒ ไบนารี (Binary Form) หรือ Two Part Form คือ บทเพลงที่มีรูปแบบประกอบด้วย๒ ส่วนใหญ่ๆ เช่น ท่อนทำนอง A และท่อนทำนอง B เรียกบทเพลงบทนี้ว่า รูปแบบ A B
๖.๓ เทอร์นารี (Ternary Form) หรือ Three Part Form คือ บทเพลงที่มีรูปแบบประกอบด้วย ๓ ส่วนใหญ่ๆ มีส่วนกลางที่แตกต่างไปจากส่วนต้นและส่วนท้าย เช่น ท่อนทำนองที่ ๑ A, ท่อนทำนองที่๒ B, ซึ่งทำนองแตกต่างกันออกไป และท่อนที่ ๓ A ก็มีทำนองคล้ายกับท่อนที่ ๑ A เรียกบทเพลงแบบนี้ว่ารูปแบบ A B A
๖.๔ ซองฟอร์ม (Song Form) คือ การนำเทอร์นารีฟอร์มมาเติมส่วนหลักแรกลงอีก ๑ ครั้ง
จะได้รูปแบบ A A B A เรียกว่า ซองฟอร์ม โครงสร้างแบบนี้มักพบในเพลงทั่วๆ ไป
๖.๕ รอนโด (Rondo Form) คือ รูปแบบการเน้นที่ทำนองหลัก โดยในบทเพลงจะมีหลายแนวทำนอง ส่วนทำนองหลักหรือทำนองแรกจะวนอยู่ระหว่างทำนองอื่นๆ ที่ต่างกันออกไป อาจแบ่งได้ ๓ รูปแบบคือ
๖.๕.๑ Simple Rondo คือ การเปลี่ยนไปมาของทำนองหลักกับทำนองที่ ๒ เช่น A B A B A
๖.๕.๒ Second Rondo คือ การเปลี่ยนไปมาของทำนองหลักกับอีก ๒ แนวทำนอง เช่น A B A C A
๖.๕.๓ Third Rondo คือ การเปลี่ยนไปมาของทำนองหลักกับอีก ๓ แนวทำนองโดยจัดเรียงกัน เช่น A B A C A D A

๗. สีสันของเสียง (Tone Color)
สีสันของเสียง คือ คุณสมบัติของเสียงเครื่องดนตรีแต่ละชนิด รวมถึงเสียงรัองของมนุษย์ซื่งแตกต่างกันไปในเรื่องของการดนตรี สีสันของเพลงอาจเกิดจากการร้องเดี่ยว การบรรเลงเดี่ยวโดยผู้แสดงเพียงคนเดียว หรือการนำเครื่องดนตรีหลายชนิดเสียงร้องมาร่วมบรรเลงด้วยกันก็เกิดเป็นการรวมวงดนตรีแบบต่างๆ ขึ้น

กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้
๑. บทเพลงสมัยนิยมยุคปัจจุบัน ส่วนมากจะมีรูปแบบ (From) แบบใด
๒. องค์ประกอบเพลงร้องที่ไม่มีดนตรี ประกอบด้วยองค์ประกอบใดบ้าง

คำถามท้ายหน่วยการเรียนรู้

ให้นักเรียนตอบคำถามต่อไปนี้
๑. ให้นักเรียนเลือกฟังเพลงตามความสนใจ โดยขอคำแนะนำจากครูผู้สอนหรือผู้มีความรู้ด้านดนตรีสากล
๒. ให้นักเรียนแบ่งกลุ่ม กลุ่มละ ๔-๕ คน เลือกบทเพลงที่สนใจ จัดทำรายงานเกี่ยวกับองค์ประกอบของเพลงที่ฟัง และนำเสนอหน้าชั้นเรียน โดยบอกเหตุผลที่เลือกและสนใจบทเพลงนั้นๆ



1 ความคิดเห็น:

ประวัติความเป็นมาของดนตรีไทยจากวัฒนธรรมไทย

ประวัติความเป็นมาของดนตรีไทยจากวัฒนธรรมต่างๆ   ดนตรีไทยมีมาแต่สมัยสุโขทัย และพัฒนาสืบเนื่องต่อมาจนปัจจุบันทั้งเครื่องดนตรีรูปแบบก...